สคบ.เอาจริง คุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ 20%นัดเฮียร์ริ่งวันที่ 16 ธ.ค.64

08 ธ.ค. 2564 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2564 | 20:48 น.

กกร.เตรียมหารือรองนายก “สุพัฒนพงษ์-รมต.อนุชา” ห่วงกระทบซัพพลายเชน หลังเสนอดอกเบี้ยรถยนต์มือสอง 24% มอเตอร์ไซด์ 36% สคบ.นัดเฮียร์ริ่ง ร่างประกาศคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ 20%ต่อปี

คณะกรรมการร่วมฯ 3 สถาบัน (กกร.) ประชุมประจำเดือนธันวาคม 2564โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานอุตสาหกรรม(ส.อ.ท.)

 

โดยนายสนั่นกล่าวภายหลังการประชุมว่า กกร.เพิ่งได้รับแจ้งจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์  เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ. ... ซึ่งการกำหนด ฟังความเห็นประชาพิจารณ์(เฮียร์ริ่ง) ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 มีประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ 20%

“โดยรวมทุกคนต้องการดูแลผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนรากฐานได้มีอาชีพ   เราก็สนับสนุนดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว แต่กรณีที่เป็นต้นทุนผู้ประกอบการหรือการปล่อยสินเชื่อต่ำกว่าต้นทุนก็ไม่อยากปล่อย  ในส่วนนี้ เราจึงเป็นคนกลางไปดูข้อมูลเชิงลึกและคงจะพูดคุยกับภาครัฐอีกเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ

โจทย์เราไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ประกอบการอย่างเดียว  แต่ตรงนี้หากมีการเรียกหลักประกันมากขึ้นอาจทำให้คนกู้ไม่ได้ก็ต้องไปกู้นอกระบบ”

นายสุพันธุ์ระบุเพิ่มเติมว่า  ก่อนหน้านี้ สคบ.ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยลิสซิงหรือเช่าซื้อ15%ต่อปี   ซึ่งภายหลังการหารือ นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรี และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   ทางสคบ.ได้ปรับปรุงรายละเอียดของร่างแก้ไขฯ หลายมิติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้

 แต่ในประเด็นอัตราดอกเบี้ยนั้น  ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแยกไปเป็นรถยนต์มือสองอัตราดอกเบี้ย 24%ต่อปี และรถมอเตอร์ไซด์อัตราดอกเบี้ย 36%ต่อปี แต่ปรากฎว่าร่างแก้ไขที่จะทำเฮียร์ริ่งครั้งที่ 2  ประเด็นสำคัญคือ เรื่องกำหนดกรอบดอกเบี้ยรวมกันเป็น 20%ต่อปี

ทั้งนี้  เรื่องลีสซิ่งที่สคบ.จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยนั้น  ได้มีการหารือกันเรื่องรถยนต์เก่า และมอเตอร์ไซด์  ซึ่งกรอบดอกเบี้ยที่อัตรา 20%นั้นค่อนข้างต่ำ    เพราะจากหารือผู้ประกอบการลีสซิ่ง โดยเฉพาะมอเตอร์ไซด์มีอัตราสูญเสียสูงประมาณ 37% กรณีที่ผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระต่อเนื่อง  

หากสคบ.ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ 20%จะทำให้การปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ไซด์ถูกกระทบจะสาเหตุหากเกิดปัญหาค้างชำระจนเข้าสู่กระบวนการติดตามและยึด เหล่านี้เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันนอกจากทำให้ผู้กู้เข้าไม่ถึงสินเชื่อแล้ว ยังเป็นความเสี่ยงของผู้ที่ใช้รถมอเตอร์ไซด์ประกอบอาชีพ    และการผลิตที่จะทำหใรถมอเตอร์ไซด์หายไปจากระบบหลายล้านคัน

 “กรอบที่สคบ.วางอัตราดอกเบี้ยให้ที่ 20%นั้นเป็นสิ่งที่เรากังวลต่อeffect ต่อตลาดเปลี่ยนไปมาก  ทำให้ธุรกิจมอเตอร์ไซด์ลดน้อยลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นและกระทบผู้ซื้อมอเตอร์ไซด์ด้วย”

นายผยง กล่าวว่า  ประเด็นนี้อยู่ระหว่างหารือกับทางสคบ. โดยเกณฑ์ที่ทางสคบ.กำหนกดนั้นกระทบความสามารถในการให้บริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการมีรถ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อให้เกิดต้นทุนที่เป็นธรรม ในมุมกกร.ห่วงกระทบซัพพลายเชน สิ่งสำคัญ  คนต้องการฟื้นตัวจากโควิด  แต่ในกลไกมีหลายมิติในร่างแก้ไขฉบับดังกล่าว และมีกฎกติกาชัดเจน เช่น รถคืนจบหนี้ไม่มีให้เรียกค่าสินไหมไปหมุนดอกเบี้ยต่อไม่ได้

“ รายละเอียดหลายเรื่องเราเห็นด้วย แต่บางมิติ   ซึ่งคนที่เข้าถึงรากหญ้ก็เป็นลิสซิ่งท้องถิ่น  ซัพพลายเชน  เข้าใจว่าประเด็นนี้รัฐบาลเร่งดำเนินการอยู่เราจึงดึงเรื่องนี้มาหารือ  สิ่งที่เรากังวลคือ จะไม่ตอบโจทย์กระบวนการทั้งห่วงโซ่อุปทาน  ซึ่งอาจจะกระทบซัพพลายเชนการผลิตหรือการถ่ายโอนถึงผู้บริโภคและระบบหากไม่ได้พิจารณาอย่างครบถ้วน ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่กกร.จะเข้าเรียนหารือรองนายกสุพัฒนพงษ์อีกครั้ง”