เมื่อวันที่9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมหารือการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่า เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในคลองแม่ข่าอย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดความยั่งยืนและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้
โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธาน พร้อมนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
นายวราวุธ เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่ามาเป็นเวลายาวนาน ในปี พ.ศ. 2560 ทส. ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ หารือเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแม่ข่าอย่างจริงจัง ต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทำแผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ. 2561 -2565) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข” เพื่อให้แต่ละหน่วยงานใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำของคลองแม่ข่ามาตั้งแต่ปี 2558 พบว่า คุณภาพน้ำในช่วงต้นน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ แต่จะมีคุณภาพเสื่อมโทรมลง
เมื่อไหลผ่านชุมชนเมืองต่างๆ โดยมีค่าออกซิเจนละลายน้ำ ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา คุณภาพน้ำคลองแม่ข่ามีคุณภาพน้ำดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่คุณภาพน้ำส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับเสื่อมโทรม เนื่องจากระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียยังไม่ครอบคลุมลพื้นที่ และบางโครงการยังอยู่ระหว่างดำเนินงาน โดยทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ตามแนวทาง “เติมน้ำ-บำบัด-สกัดกั้น-ร่วมกันดูแล” การเติมน้ำต้นทุนเข้าสู่คลองแม่ข่า บำบัดน้ำเสียโดยการดักน้ำเสียไม่ให้ระบายลงคลองและส่งไปบำบัดยังระบบบำบัดน้ำเสียหรือพิจารณาการบำบัดน้ำเสียในคลอง สกัดกั้นไม่ให้แหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้งที่ไม่ได้มาตรฐาน และสร้างเครือข่ายชุมชน แหล่งกำเนิดมลพิษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมกันดูแลคุณภาพน้ำ
นายวราวุธ กล่าวว่า การดำเนินงานในการฟื้นฟูและพัฒนาคลองแม่ข่าประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ 1. การคืน/เพิ่มต้นทุนให้กับคลองแม่ข่า โดยใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนแม่งัด (ซึ่งจะมีการจัดสร้างอุโมงค์สำนักแม่งัด–แม่แตง) มายังคลองแม่ข่า (ตามเป้าหมายแล้วเสร็จ ปี 2567) ในส่วนการปรับปรุงคลองซอย ที่น้ำลงมายังคลองแม่ข่า (ที่มีแผนจะดำเนินการตามเป้าหมาย) 2. การบำบัดน้าเสีย ให้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ยังค้างอยู่ให้เป็นไปตามแผน (ซึ่งออกแบบไว้แล้ว) รวมถึงเร่งรัดการจัดทำรายละเอียดระบบรวบรวม และระบบบำบัดน้ำเสีย
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นริมคลองแม่ข่า ทั้ง 9 แห่ง 3. การบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ ครอบคลุมให้ครบทั้ง 8 อปท. ให้แล้วเสร็จ โดยจัดทำแผนปฏิบัติ หรือ Road map (ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่กว่า 1,200 แห่ง) และ 4. การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อการแก้ไขปัญหา
สร้างการเรียนรู้ และการบำบัดน้ำเสียครัวเรือนของชุมชนริมคลอง สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และสนับสนุนสถานประกอบการการแก้ไขปัญหา โดยการจัดระบบการบำบัดน้ำเสีย มีเป้าหมายในการฟื้นฟู และพัฒนาคลองแม่ข่าให้มีน้ำเต็มตลอดคลอง และน้ำมีคุณภาพดี ในปี 2570 ให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และบางพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า คพ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จำนวน 231 แห่ง พบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษระบายน้ำทิ้ง เป็นไปตามมาตรฐาน 181 แห่ง และจะได้ดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ เพิ่มเติมอีก 1,111 แห่ง รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและแหล่งกำเนิดมลพิษ
โดยการอบรมให้ความรู้สร้างความตระหนักเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษและชุมชนริมคลอง จำนวน 107 ชุมชน สำหรับการบำบัดน้ำเสีย การสร้างเครือข่ายติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ และสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการสำหรับการศึกษาความเหมาะสมในการจัดการน้ำเสียชุมชนในภาพรวม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการมีระบบนิเวศน์ที่ดี คืนวิถีชีวิตริมคลองแม่ข่า คืนน้ำใสให้กับคลองแม่ข่า อย่างยั่งยืนตลอดไป