รายงานข่าวจากกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจว่า “ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 หนังสือลงเลขที่ 009/2564 ลงนามโดยนายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ส่งหนังสือเรื่อง พิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) ระบุว่า ตามที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่ควบคุมขึ้นในแต่ละจังหวัดที่พบการแพร่ระบาดของโรคฯ
โดยกำหนดมาตรการให้สถานประกอบการต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ตลอดจนให้โรงเรียนและสถานศึกษาพิจารณาปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นแบบการเรียนออนไลน์จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งภายหลังจากที่รัฐบาลดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ "โควิด-19"
รวมทั้งการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศได้ฉีดวัดซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรด จึงทำให้วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ รัฐบาลจึงได้พิจารณาคลายล็อกมาตรการและผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ ได้แก่กำหนดวันเปิดเทอมในรูปแบบการเรียน/การสอนในสถานศึกษา, การเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การอนุญาตให้สถานประกอบการร้านอาหารขยายเวลาการให้บริการ (ภายใต้มาตรการที่ภาครัฐกำหนด) การยกเลิกประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ
ซึ่งผลจากมาตรการผ่อนคลายนี้นับว่าเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลใหัสถานการณ์ไข่ไก่ปัจจุบันราคาไข่คละหน้าฟาร์มปรับขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ2.80 บาท โดยเป็นการปรับตามสภาพของกลไกตลาดอย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์ไข่ไก่จะมีสัญญาณและทิศทางที่น่าจะดีขึ้น แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เองก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ในการแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะต้นทุนด้านอาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์ ประกอบกับพบการกลายพันธุ์ของเชื้อ "โควิด-19" ในทวีปแอฟริกา โอมิครอน (B.1.1.529) ที่แพร่เชื้อได้เร็วกว่าทุกสายพันธุ์ รุนแรงและสามารถต้านประสิทธิภาพของวัคซีนได้ทุกประเภท โดยพบการระบาดในหลายประเทศแล้ว เช่น แอฟริกาใต้ ฮ่องกง อิสราเอล
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มกลับมาล็อกดาวน์และปิดประเทศใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่นี้เข้ามาระบาดในประเทศตนเองได้ รวมทั้งประเทศไทยที่รัฐบาลอาจทบทวนนโยบายการเปิดประเทศ ตลอดจนมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อดวบคุมสถานการณ์ หากพบมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง
ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากไข่ไก่เป็นผลผลิตการเกษตรที่ค่อนข้างอ่อนไหวเป็นอย่างมาก หากมีสถานการณ์หรือแนวโน้มในด้านลบใดๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะราดได้โดยทันที สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ในฐานะองค์กรผู้เลี้ยงไก่ไข่
จึงขอให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไก่ไข่ โดยการพิจารณาเงินช่วยเหลือจากคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (บท.) เพื่อใช้สำหรับบริหารจัดการไข่ไก่ไปต่างประเทศ จำนวน 100 ล้านฟอง ในอัตราฟองละ 0.50 บาท เพื่อสร้างความสมดุลให้กับภาพรวมของสินค้าไข่ไก่ให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการบริโภคภายในประเทศโดยผู้บริโภคอยู่ได้ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็อยู่ได้เช่นเดียวกัน
แหล่งข่าวเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่ กล่าวว่า สถานการณ์ไข่ไก่ ในช่วงนี้ไม่ได้ล้น เพราะหลายพื้นที่ก็ขาด มีการถามหาไข่ไก่กัน แต่ทำไมต้องอุดหนุนส่งออก แล้วถ้าจะดีกว่าให้ชดเชยการปลดไก่น่าจะดีกว่า เพราะแก้ปัญหาไข่ล้นได้ชัดเจนกว่าการส่งออก เพราะการช่วยส่งออกก็มีมาอีก แต่ถ้าไม่มีตัวผลิตจำนวนย่อมลดลงโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ดีตามขั้นตอนจะต้องส่งให้กรมปศุสัตว์ เพื่อนำเข้าเอ้กบอร์ดเห็นชอบก่อน และเมื่อมีมติแล้วถึงจะส่งให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เข้าคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เพื่อเห็นชอบถึงจะอนุมัติได้
ด้านแหล่งข่าวผู้ค้าไข่ไก่ กล่าวว่า จะขอไปเพื่ออะไรในเมื่อไข่ไก่ อยู่ในราคานี้ หรือ มีไข่ไก่ เก็บไว้ในห้องเย็นหรือเปล่า ซึ่งเมื่อก่อนราคา เบอร์4 ราคาต่ำอยู่ในระดับ 1.50-1.70 บาท/ฟอง ตอนนี้ เบอร์ 4 ปรับมาอยู่ที่ 2.50 บาท/ฟอง ก็ไม่เข้าใจว่าจะขอเงินส่งออกไปเพื่ออะไร เพราะไข่ไก่ตอนนี้ก็ไม่ได้เหลือมาก และที่สงสัยกันมาก ว่าส่งออกจริงหรือไม่ เก็บไข่ไก่ไว้หรือไม่
“ไม่มีเหตุผลที่จะมาขอค่าส่งออก และเมื่อได้อนุมัติแล้วก็จะเก็บไข่ไก่ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะให้ไข่ไก่ดีดมาที่ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ที่ 3 บาท/ฟองใช่หรือไม่ และเมื่อไข่ไก่ราคาปรับแล้วคนไทยจะต้องกินไข่ไก่แพง ใช่หรือไม่ เมื่อราคาปรับ ก็ค่อยทยอยปล่อยไข่ไก่ที่เก็บไว้จะได้ขายไข่ไก่ในราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น”