วันที่ 14 ธ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงใยผู้สูงอายุ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) ไปพิจารณาแนวทางเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นขั้นบันได
"เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลตัวเองได้และให้ถือเป็นนโยบายและข้อสั่งการของนายกฯ" นายธนกร กล่าว
นายธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯชื่นชมและสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)ที่ได้ช่วยทำงานช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ที่ผ่านมาโดยมอบหมายให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายอสม.ต่อไปอีก 6 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเงิยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ในปัจจุบันมีเกณฑ์การจ่าย ดังนี้
- อายุ 60 – 69 ปี จะได้รับ 600 บาท
- อายุ 70 – 79 ปี จะได้รับ 700 บาท
- อายุ 80 – 89 ปี จะได้รับ 800 บาท
- อายุ 90 ปี ขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" มีดังนี้
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ตัวอย่างการคำนวณอายุ เช่น การลงทะเบียนของปี 2560 ต้องเป็นผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2501 ส่วนผู้สูงอายุที่ทะเบียนราษฎรระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น ๆ
- ต้องไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็น เงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ รวมถึงเงินอื่น ๆ ไปในลักษณะเดียวกัน เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ที่รัฐจัดให้เป็นประจำ
- หากมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเคยลงทะเบียนไว้แล้ว แต่มีการย้ายภูมิลำเนา จะต้องลงทะเบียนใหม่ในภูมิลำเนาที่ย้ายมาใหม่
- ผู้ที่เคยลงทะเบียนไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงใหม่ทุกปี เว้นแต่มีการย้ายภูมิลำเนา หรือมีข้อมูลที่ต้องแก้ไขบ้างอย่าง
- สำหรับผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเองได้ ตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน ของทุกปี
สามารถตรวจสอบขั้นตอน การลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้ที่เว็บไซต์ กรมกิจการผู้สูงอายุ