เช็คเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีปิดกิจการจากโควิด กลุ่มไหนรับสูงสุด 100 เท่า

16 ธ.ค. 2564 | 20:05 น.

“เงินสงเคราะห์ลูกจ้าง” กรณีนายจ้างปิดกิจการเพราะผลกระทบจากโควิด ปรับเพิ่มสูงสุดจาก 60 เท่าของเป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีผลแล้ว กระทรวงแรงงาน แนะยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป

 

ระเบียบเงินสงเคราะห์ลูกจ้างฉบับดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่นายจ้างค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการทำงานโดยไม่ถูกต้อง รวมถึงมีการเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด จากสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

เงินสงเคราะห์ลูกจ้างที่ปรับเพิ่ม

1. กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม

1.1 สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี ปรับจากได้รับเงิน 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

1.2 สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ปรับจากได้รับเงิน 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

1.3 สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ปรับจากได้รับเงิน 70 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

2. กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม จาก 60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

 

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กล่าวว่า ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เป็นต้น เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

 

ลูกจ้างสามารถมายื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 ในเบื้องต้นได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ระหว่าง 1 มีนาคม 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2565