"ทล" เทงบ 1.1 พันล้าน ขยายถนน จ.นครราชสีมา 4 สาย บูมเส้นทางขนส่งแดนอีสาน

17 ธ.ค. 2564 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2564 | 18:10 น.

"คมนาคม" เร่งทล.ขยายถนนจ.นครราชสีมา 4 เส้นทาง วงเงิน 1.1 พันล้าน แก้ปัญหารถติด หวังอำนวยความสะดวกประชาชนใช้บริการ เล็งชงครม.ไฟเขียวสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส2 รับขนส่งสินค้าจีน-ลาว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการขยายช่องทางจราจรและปรับปรุงเส้นทางหลวงในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า เบื้องต้นได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางหลวงและขยายช่องทางการจราจรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร

 

 

 

สำหรับการดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนาน รวมถึงปรับปรุงทางแยกขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ​​1. งานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 224 ดำเนินการขยายช่องทางจราจรจากเดิม 2 ช่องทางจราจรเป็น 4 ช่องจราจร บริเวณทางหลวงตอนพะโค - หนองสนวน ระหว่าง กม. ที่ 47+100 - 49+313 ระยะทาง 2.213 กิโลเมตร ใช้งบประมาณปี 2565 วงเงินก่อสร้าง 60 ล้านบาท รูปแบบ   การก่อสร้างขยายช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร เกาะกลางแบบ SINGLE SLOPE BARRIER (SSB) และก่อสร้างผิวทางแบบผิวแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ชั้น

 

 

 

​​2. โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 งานขยาย 4 ช่องจราจร บริเวณ ทางหลวงสายบ้านโคกกรวด - บ้านหนองสนวน ระหว่าง กม. ที่ 66+331 - 80+000 และ กม. ที่ 92+555 - 102+000 ระยะทางรวม 23.114 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 980 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอขอเงินกู้ปี 2565

3. งานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางคู่ขนาน ตอนสี่แยกโชคชัย - หนองมัน ระหว่าง กม. ที่   70+205 - 72+275 และ กม. ที่ 72+975 - 76+000 ระยะทางรวม 5.095 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 74 ล้านบาทใช้งบประมาณปี 2565 รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางคู่ขนานกว้าง 9 เมตร ก่อสร้างผิวทางแบบผิวแอสฟัลท์คอนกรีต โดยก่อสร้างแยกออกจากทางจราจรหลักด้านขวาทาง ระยะห่างประมาณ 14.50 เมตร และก่อสร้างจุดเข้าออกระหว่างทางคู่ขนานกับทางหลวงสายหลักเป็นระยะ ๆ  

 

 

 

4. โครงการปรับปรุงทางแยกขนาดใหญ่และงานขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 24 กม. ที่ 70+205 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2298 กม. ที่ 0+000 (แยกแหลมทอง) ระยะทาง 0.600 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 40 ล้านบาท โดย ทล. จะเสนอของบประมาณปี 2566 ​​

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงฯ กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย และมีแผนงานที่จะก่อสร้างระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ขณะนี้โครงการออกแบบแล้วเสร็จอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ในปี 2565 เปิดใช้บริการได้ในปี 2571 รวมถึงระยะที่ 3 ช่วง หนองคาย - เวียงจันทร์ ระยะทาง 16 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - สปป. ลาว - จีน ในอนาคต