19.ธ.ค. ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

18 ธ.ค. 2564 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2564 | 17:41 น.

19.ธ.ค. ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ ไมโครฟูลมูน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ย้ำ ได้ชมแน่ มีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน หลังที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์ธรรมชาติมากมายเกี่ยวกับดวงจันทร์

 

ในแต่ละรอบปีจะ เกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นฝนดาวตก ,ดาวเคียงเดือน หรือพระจันทร์ยิ้ม เป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายใบหน้าคนกำลังยิ้ม อีกทั้งจันทรุปราคาเต็มดวง เงาของโลกบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องไปยังดวงจันทร์เกือบทั้งหมด เนื่องจากเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกใหญ่กว่าของดวงจันทร์ 4 เท่า   

นอกจากนี้ยังมีปรากฎการณ์ พระจันทร์เต็มดวงโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด จนเห็นว่าส่องสว่างเป็นดวงกลมโตกว่าปกติ หรือที่เรียกกันว่า "ซูเปอร์มูน" ที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่รับชม แล้ว

ล่าสุด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า วันที่ 19 ธันวาคม 2564 ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 19 ธ.ค.64 เป็นคืนจันทร์เต็มดวงที่ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,924 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กสุดในรอบปี เริ่มสังเกตดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า

.

โดยดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด

เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้หรือไกลโลกมีขนาดที่แตกต่างกัน นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

.