กรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศหยุดให้บริการรับส่งผู้โดยสารรถไฟที่สถานีบางเขน หลักสี่ และย้ายสถานีดอนเมืองไปที่สถานีรถไฟสายสีแดง ตั้งแต่ วันที่ 23 ธันวาคม นี้เป็นต้นไป พร้อมลดบทบาทสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง ) ให้เหลือขบวนรถเข้าถึงสถานีเพียง22 ขบวน ขณะความชัดเจนถึงเส้นทางรับส่งต้นทางปลายทางยังไม่มีอาจทำให้ประชาชนสับสน
โดยรฟท.แจ้งว่า มีกำหนดให้ขบวนรถโดยสารทั้งหมดเดินรถบนทางยกระดับในระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2564 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการที่สถานีบางเขน สถานีหลักสี่ ป้ายหยุดรถ กม.11 ที่หยุดรถทุ่งสองห้อง และป้ายหยุดรถการเคหะ กม.19 ส่วนสถานีดอนเมืองจะย้ายการให้บริการไปที่สถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 23 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะเดินทางสามารถใช้บริการที่สถานีของระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)
นอกจากนี้ ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ รฟท.ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ให้สถานีบางเขน สถานีหลักสี่ และสถานีดอนเมือง เป็นสถานีปิดในพื้นที่ควบคุมการเดินรถจากศูนย์กลาง (CTC) เนื่องจากการรถไฟฯ มีกำหนดเปิดให้รถโดยสารทางไกล (LD) ในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ
วิ่งบนทางยกระดับในพื้นที่โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป ทำให้ไม่มีขบวนรถโดยสารวิ่งให้บริการรับส่งผู้โดยสารที่สถานีบางเขน หลักสี่ และดอนเมืองที่ระดับพื้นบนทางประธานสายเหนืออีกต่อไป
แต่ยังมีความจำเป็นสำหรับการเดินขบวนรถสินค้าและขบวนรถอื่นๆ ในช่วงเวลากลางคืนหรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จึงให้ปิดสถานีบางเขน สถานีหลักสี่ และสถานีดอนเมืองตลอด 24 ชั่วโมง และให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติในการเดินรถตามคำสั่ง เรื่อง กำหนดวิธีปฏิบัติเมื่อมีการปิดสถานีชั่วคราว
ในพื้นที่ควบคุมการเดินรถจากศูนย์กลาง (CTC) (แก้ไขปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 2) และคำสั่งทั่วไป เรื่อง กำหนดวิธีปฏิบัติเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับการเดินรถในพื้นที่ควบคุมการเดินรถจากศูนย์กลาง (CTC) (แก้ไขปรับปรุงใหม่ ครั้งที่ 1) โดยเคร่งครัด ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนอย่างเป็นทางการจากรฟท. ถึงการย้ายการเดินรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) แม้จะมีการออกโทรเลขเป็นการภายในอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาเดินรถ และปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทางขบวนรถโดยสารเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ เสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดให้บริการขบวนรถไฟโดยสารทางไกล (LD) ขึ้นให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไปเนื่องจากมีการคัดค้านการปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)เป็นวงกว้าง
ล่าสุด นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรฟท.ยื่นหนังสือต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้ทบทวนข้อสั่งการให้รฟท.ชะลอแผนงานการเปิดให้บริการรถไฟทางไกล (LD) ไปที่สถานีกลางบางซื่อออกไปก่อน
จนกว่าจะมีความพร้อมสมบูรณ์ เนื่องจากจะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนทั้งหมดเกิดความสับสนต่อการใช้บริการเดินทาง ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการให้บริการแก่ประชาชน และผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน
การดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถานีต้นทาง-ปลายทาง ในการให้บริการรถไฟจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปที่สถานีกลางบางซื่อ จะมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญต้องมีการดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลคุณภาพชีวิตของประชาชนหรือชุมชน
รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งการกำหนดให้ขบวนรถไฟทางไกลเชิงสังคม รถไฟชานเมือง จำนวน 14 ขบวน มีต้นทาง-ปลายทางที่สถานีดอนเมือง มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เหมือนเป็นการบีบบังคับให้ประชาชนที่เคยเดินทางต้องไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่มีราคาบริการแพงกว่า
นอกจากนี้ ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากยังไม่ทราบว่าขบวนรถไม่สามารถหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารในสถานีรายทางของสายสีแดงได้ เนื่องจากระบบไม่ได้รองรับให้รถไฟจอดหยุดรับ-ส่งที่สถานีดังกล่าว ซึ่งแตกต่างกับเส้นทางเดิมที่สามารถหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารได้ที่สถานีบางเขน และสถานีหลักสี่ ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมากในการเดินทางกลับภูมิลำเนา หากการรถไฟฯ ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวแล้ว จะมีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการไม่ทราบข้อมูลและทำให้ไม่สามารถใช้บริการรถไฟได้