นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต(Future Food Future Crop) เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพทางเลือก และมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และทุกภาคีภาคส่วนถือเป็นหนึ่งในเกษตรมูลค่าสูงโดยส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา(R&D) ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงด้านการตลาด
จากมาตรการการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร เวลานี้มีความคืบหน้าอย่างมาก ปัจจุบันมีเกษตรกร 369,353 รายขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านพืชสมุนไพร เครื่องเทศ พืชสมุนไพรที่เป็นพืชอาหาร (รวม 82 ชนิด) ดำเนินการปลูกพืชสมุนไพรบนพื้นที่รวมประมาณ 1.15 ล้านไร่ แบ่งออกเป็น การปลูกพืชสมุนไพรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพรอื่น ๆ กว่า 6.4 หมื่นไร่ และมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตั้งแต่ปี 2559 – 2564 จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง จำนวนเกษตรกร 1,565 ราย พื้นที่ 7,913 ไร่ ใน 22 จังหวัด
ขณะที่ในปี 2565 มีกลุ่มเกษตรกรขอเข้าร่วมโครงการอีกจำนวน 15 กลุ่ม กำลังอยู่ในขั้นตอนขอรับรองแปลง และกระทรวงฯ มีโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรปี 2565 มีเป้าหมายเกษตรกร จำนวน 1,110 ราย ในพื้นที่ 37 จังหวัด และจัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ จำนวน 16 ศูนย์เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มูลค่าตลาดประมาณ 54,500 ล้านบาท
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อร่วมกันพัฒนาสมุนไพรให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยกระทรวงเกษตรฯมุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทุกมิติ โดยใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยตั้งแต่การกำหนดโจทย์วิจัยที่ตรงตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ตาม 10 ภารกิจหลักในการพัฒนาตามแผนด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. 2563 –2565 ประกอบด้วย
1. การปลูกสมุนไพรที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งดำเนินการได้ 64,225 ไร่ จาก 82 ชนิดพืช
2. กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ได้รับการส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว ณ สถานที่ปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์ และสารสกัดอย่างง่ายในระดับชุมชน จำนวน 92 แห่ง
3. กำหนดมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานพืชสมุนไพรตามกลุ่มที่ใช้ของพืช จำนวน 5 ฉบับ
4. จัดทำแผนที่ความเหมาะสมของที่ดินสำหรับปลูกพืชสมุนไพร (Land Suitability) 24 ชนิด
5. พัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร (Land Use) 1 ฐานข้อมูล
6. ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 17025 ให้บริการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ จำนวน 8 แห่ง
7. พัฒนาระบบตลาดกลาง 1 แห่ง และตลาดอิเล็กทรอนิกส์ 1แห่ง (E-Market)
8. กำหนดมาตรฐานสมุนไพรในตารามาตรฐานสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia, THP) จำนวน 109 รายการ
9. พัฒนาฐานข้อมูลพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์ของประเทศไทย (National Database of Thai Plants and Traditional Knowledge) 1 ฐานข้อมูล
10. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรและเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัตถุดิบ 57 เรื่อง
อนึ่ง ข้อมูลข้างต้นเป็นถ้อยแถลงที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในระหว่างงานเสวนาเนื่องในมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค และวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ในประเด็น “การวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพสู่ตลาดโลก” ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมในการเสวนา พร้อมด้วยนางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และนายโกศล ตาลทอง นายกสมาคมพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย