TPIPP ปักหมุดเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็น"พลังงานขยะ" 

22 ธ.ค. 2564 | 11:17 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 19:12 น.

    TPIPP ชี้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทนที่สร้างภาวะเรือนกระจกได้ถึง 6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปักหมุดปี 2025 "Zero Coal" เปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพลังงานขยะทั้งหมด 

ด้านนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) (TPI PP) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาออนไลน์  Thailand Next หัวข้อ"คำตอบธุรกิจสู่ความยั่งยืน" จัดโดยเครือเนชั่น และฐานเศรษฐกิจ ว่า ธุรกิจของ TPI PP  ตอบโจทย์ความยั่งยืนอยู่ในตัว ในมิติการอยู่ร่วมกับสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น กิจกรรมโรงไฟฟ้าTPT PP ที่รับขยะเหลือใช้มาผลิตปุ๋ยและเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า วันละ 7 พัน ถึง 1 หมื่นตัน  ผลิตกระแสไฟฟ้า 180 เมกะวัตต์ 
    

เนื่องจากขยะเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ก่อภาวะเรือนกระจกรุนแรง การลดปริมาณขยะเท่ากับลดการเกิดมีเทน ถึงแม้ว่าTPI PP ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เมื่อนำผลการลดก๊าซมีเทนจากขยะมาหักกลบคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ถ่านหินแล้ว ยังมีส่วนเกิน  6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น กิจกรรมของบริษัทถือเป็นCSRในตัวเอง เพราะยิ่งขยายกำลังการผลิตก็ยิ่งสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงไม่ได้มองCSRว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่เป็นการลงทุน 

"นอกจากนี้ TPI PP มีแผนเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพลังงานขยะทั้งหมดในปี 2023 ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 220 เมกะวัตต์ และเข้าสู่เป้าหมาย Zero Coal ในปี 2025 ซึ่งเท่ากับช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า" 
    

นายภัคพลชี้อีกว่า อีกมิติคือความมั่นคงทางรายได้และอาชีพ ซึ่งรัฐควรวางโครงสร้างพื้นฐานกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อจูงใจภาคเอกชนตัดสินใจลงทุนในแหล่งที่มีศักยภาพ ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนที่อยู่รายรอบในพื้นที่ ให้มีงานที่มั่นคงโดยไม่ต้องหางานต่างถิ่น 

บริษัทมีแผนลงทุนโครงการเมืองต้นแบบจะนะอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต บนเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใน 3 ตำบล อ.จะนะ จ.สงขลา ใน 4 ธุรกิจหลัก คือ

1.ท่าเรือน้ำลึก 3 ท่า ประกอบด้วยท่าขนส่งก๊าซLNG ท่าตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ และท่าสินค้าเทกอง โดยมีศูนย์รวม-กระจายสินค้าหลังท่าไว้รองรับเพื่อเป็นโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่ภาคใต้กับโลก

 

2.นิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคคต ที่รวมอุตสาหกรรมเบาไฮเทค  การแปรรูปสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มพืชเกษตรภาคใต้ ด้วยเทคโนโลยีสะอาด

 

3.โรงไฟฟ้ารวม 3,700 เมกะวัตต์ เสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าในภาคใต้ จากปัจจุบันที่ต้องป้อนจากภาคกลางลงไปและซื้อมาเลเซียส่วนหนึ่ง และ

 

4.เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะมีทั้งศูนย์สุขภาพก้าวหน้า ที่พักอาศัยอัจฉริยะ ศูนย์ราชการ นันทนาการ แหล่งพักผ่อน โดยใส่ความสมาร์ทในทุกมิติให้เป็นเมืองยุคใหม่"
    

นายภัคพลชี้ว่า โครงการนี้ไม่เพียงเป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-ไฟฟ้าภาคใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นโครงการเสรีมความมั่นคงของประเทศ เพราะจะสร้างตำแหน่งงานกว่า 1 แสนอัตราเมื่อเปิดครบตามแผน จะเป็นแหล่งงานแหล่งอาชีพของคนในพื้นที่ภาคใต้ อันจะเป็นการดับไฟใต้ได้อย่างยั่งยืน