นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลายลง
สำหรับการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 23.7%ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ จาก 17.0%ในเดือนก่อนขณะส่งออกไม่รวมทองคำ 22.6% จาก 16.7%ในเดือนก่อน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว –13.5%ลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าเชื้อเพลิง รวมทั้งสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ลดลง อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่รวมเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตที่ทยอยฟื้นตัว
สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐในรูปแบบเงินโอนยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว 1.3%เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน-1.1%ตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ทยอยฟื้นตัว
การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2564 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายภาครัฐในเดือนนี้ยังทำได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2562 -
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน หลังภาครัฐเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังไม่มาก เนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.71%ปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.29%เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง
ส่วนเศรษฐกิจเดือนธ.ค.นั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยปรับดีขึ้น แต่ต้องติดตามสถานการณ์ 1) การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron 2) ปัญหา supply disruption ทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ ชิ้นส่วนการผลิต และตู้คอนเทนเนอร์ และ 3) ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง