กรณี มีผู้ป่วยท้องเสียจำนวนมากที่จังหวัดจันทบุรี มีอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียพร้อมกันทั้งเมือง เมื่อวันที่28ธันวาคม และไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ว่าเกิดจากสาเหตุใด
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่31ธันวาคม ถึงผลการตรวจอุจจาระของผู้ป่วยท้องเสียที่จังหวัดจันทบุรีว่าเป็น Norovirus Genogroup II จำนวน 6 ราย จาก 8 ราย อาการคลื่นไส้อาเจียนจะเด่น ท้องเสียจะเกิดขึ้นเร็ว และรุนแรงในบางราย หายเองภายในประมาณ 2 วัน ผู้สูงอายุอาจมีอาการมากและรุนแรง
โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสก่อโรคในทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง ค้นพบครั้งแรกในการระบาดของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบที่เมืองนอร์วอล์ก รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1972 แต่ก่อนหน้านั้นมีบันทึกเกี่ยวกับโรคนี้ว่าเป็น ‘โรคอาเจียนในฤดูหนาว (Winter vomiting disease)’ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเด่น และมักพบระบาดในช่วงฤดูหนาว
โนโรไวรัสมีขนาดเล็กประมาณ 30 นาโนเมตร (เทียบกับโควิดที่มีขนาดประมาณ 100 นาโนเมตร) และไม่มีเปลือกหุ้ม ทำให้ไวรัสนี้ไม่ถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์ วิธีการป้องกันจึงต้องล้างมือด้วยสบู่เท่านั้น
โนโรไวรัสมีระยะฟักตัวระหว่าง 12-48 ชั่วโมง เฉลี่ยประมาณ 1 วันจะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีเลือดปน ปวดท้อง และอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือภาวะขาดน้ำ แต่ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-3 วัน นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ 30% ทำให้เป็นพาหะแพร่เชื้อได้
โนโรไวรัสแพร่ระบาดได้ง่าย เนื่องจากสามารถก่อโรคได้แม้ได้รับเชื้อในปริมาณน้อย (<100 อนุภาคไวรัส) และอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ทนความเย็นและความร้อนสูงถึง 60 องศาเซลเซียส ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือที่สัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนอาเจียนหรืออุจจาระแล้วหยิบอาหารเข้าปาก และการสูดหายใจเอาละอองอาเจียนเข้าไป
การรักษาเหมือนกับโรคอาหารเป็นพิษคือ รักษาตามอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง และดื่มน้ำสะอาดผสมผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากยาฆ่าเชื้อออกฤทธิ์เฉพาะแบคทีเรียเท่านั้น หากมีอาการอ่อนเพลียมากควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินภาวะขาดน้ำ
‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ เป็นคำขวัญที่ใช้ในการรณรงค์เรื่องโรคติดต่อทางอาหารและน้ำอยู่เดิม นั่นคือการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกินกว่า 2 ชั่วโมงต้องนำมาอุ่นให้ร้อน การใช้ช้อนกลาง และการล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าต้องล้างมือด้วยสบู่ เพราะการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ไม่เพียงพอสำหรับไวรัสนี้ ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น
นอกจากนี้ควรทำความสะอาดพื้นผิวที่อาจปนเปื้อนอาเจียนหรืออุจจาระด้วยน้ำยาฟอกขาวหรือผงซักฟอก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อ จะเห็นว่าการป้องกันการติดเชื้อคล้ายกับโควิด หากปฏิบัติเป็นประจำก็จะสามารถป้องกันได้ทั้งโรคติดเชื้อทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ (อาหารและอากาศ)