วันที่ 1 มกราคม 2565 โครงการช้อปดีมีคืน เริ่มโครงการตั้งแต่วันแรกเมื่อวานนี้ 1 มกราคม 2565 - 15 ก.พ. 65 (สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในปี 65 ได้)
สำหรับโครงการช้อปดีมีคืนประชาชนไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเพียงแค่ซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขที่กำหนด แล้วขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจากร้านค้า สามารถใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565 เพื่อหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับค่าลดหย่อนอื่น ๆ ทั่วไป
ล่าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวถึง มาตรการช้อปดีมีคืน 2565 ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและค่าบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือ e-Book และสินค้า OTOP ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2565 ซึ่งจะยื่นแบบและชำระภาษีในช่วงต้นปี 2566
ลดหย่อนได้เท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของแต่ละราย ต้องคำนวณจากเงินได้สุทธิที่เหลืออยู่ โดยในแต่ละขั้นจะสามารถลดหย่อนได้ดังนี้
- 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิ์คืนภาษี จากโครงการช้อปดีมีคืน
- 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
- 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
- 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
- 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด6,000 บาท
- 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด7,500 บาท
- 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
- 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
สินค้าและบริการที่ไม่เข้าเงื่อนไขช้อปดีมีคืน 2565
- ค่าสุรา เบียร์ ไวน์
- ค่ายาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อ มูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์
- ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
สินค้าและบริการที่เข้าร่วมเงื่อนไข
- สินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- หนังสือ (รวมถึง e-book)
- สินค้า OTOP.
ที่มา: กระทรวงการคลัง