หมูแพง บางคนอาจคิดว่า งานนี้คนเลี้ยงหมูคงฟันกำไรพุงกาง แต่ก่อนจะโยนบาปให้เกษตรกร ต้องมาดูปมเหตุก่อนจะมีวันนี้ ว่าแท้จริงแล้วชาวหมูต้องแบกภาระจนหลังอานจากอะไรบ้าง
มูลเหตุสำคัญที่ราคาหมูขยับ ประเด็นสำคัญมาจากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยงหมูไปมากกว่า 50% จากที่เคยมีเกษตรกรทั้งประเทศ 2 แสนราย วันนี้เหลือแค่ 8 หมื่นรายเท่านั้น
ถามว่าทำไมคนเลี้ยงหมูหายไปมากขนาดนี้ ต้องย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน ที่หมูราคาตกต่ำรุนแรง เกษตรกรขาดทุนสะสมมายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อโควิด-19 เล่นงาน เกษตรกรแทบม้วนเสื่อ เพราะคนกินหาย นักท่องเที่ยวหด การจับจ่ายฝืดเคือง
ขณะเดียวกัน การเลี้ยงหมูต้องเผชิญกับโรคระบาดในหมู ทำให้หมูเสียหาย ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นเพราะตัวเฉลี่ยต้นทุนลดลง หมูกินอาหารไปแล้วแต่ต้องสูญเสียระหว่างการเลี้ยง เท่ากับที่เลี้ยงมาสูญเปล่า แถมยังโดนพ่อค้าหัวหมอ ใช้เรื่องโรคหมูมาปั่นกระแสกดราคา เกษตรกรทั้งรายย่อย รายเล็ก รายกลาง ต่างตื่นตระหนกและเร่งเทขายหมู แม้รู้เต็มอกว่าต้องขาดทุน ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
จากเรื่องโรค ทำให้เกษตรกรต้องลงทุนระบบป้องกันโรคเข้มงวด มีต้นทุนส่วนนี้สูงถึง 500 บาทต่อตัว ยังไม่นับต้นทุนที่พุ่งพรวดแบบฉุดไม่อยู่ จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงสุดอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และแนวโน้มก็จะสูงต่อไป ซึ่งกระทบต้นทุนส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึง 30-40% ซ้ำยังมีค่าน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งอย่างมาก ไหนจะค่ายารักษาโรคสัตว์ที่ต้องจ่ายอีก ปัจจุบันคนเลี้ยงจึงแบกต้นทุนการผลิต สูงถึงกิโลกรัมละ 120 บาทแล้ว ทั้งราคาหมูตกต่ำ ขาดทุนสะสม ซ้ำต้องเผชิญภาวะโรค และต้นทุนสูง เกษตรกรบางรายถึงกับหมดตัว ก็จำต้องหยุด เพราะขาดทั้งทุนรอน และหมดแรงใจ
ผลกระทบปรากฎชัดแล้วในวันนี้ที่หมูขาดตลาด แม่หมูลดจาก 1.1 ล้านตัว เหลือแค่ 6.6 แสนตัว หมูขุนลดจาก 19-20 ล้านตัว เหลือ 14-15 ล้านตัวต่อปี สวนทางกับการบริโภคที่กลับมาคึกคักหลังเปิดประเทศ ผู้บริโภคก็กลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง
เมื่อใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาจับ ขณะที่ "ซัพพลายน้อย" ขณะที่ "ดีมานด์มาก" ยังไงราคาก็ต้องสูงขึ้น ตามกลไกตลาด
ปัญหาหมูแพง สะกิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันสปอร์ตไลท์มาจับจ้องที่เกษตรกรอีกครั้ง ที่น่าดีใจคือ กระบวนทัศน์ของการแก้ปัญหาเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน งานนี้นายกรัฐมนตรีลงมาสั่งการแก้ไขทั้งระบบด้วยตัวเอง ตั้งแต่เกษตรกร ต่อเนื่องไปถึงปากท้องประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างเร่งออกมาแก้ไข ออกมาตรการช่วยเหลือเต็มที่ เพื่อเพิ่มซัพพลายหมูให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการพลิกฟื้นฟาร์มหมูและส่งเสริมเกษตรผู้เลี้ยงรายย่อย ให้กลับมาเลี้ยงหมูอีกครั้ง
ส่วนที่บางคนแนะนำให้นำเข้าหมูจากต่างประเทศ ต้องบอกว่าไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น เพราะคนไทยต้องเสี่ยงกับสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์หมูต่างประเทศ เกษตรกรต้องเสี่ยงกับโรคหมูที่อาจติดมากับผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลกระทบต่อวงจรการผลิตหมูทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่คนเลี้ยงหมู ผู้เพาะปลูกพืชไร่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภาคเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การเลี้ยง ภาคขนส่ง จนถึงภาคธุรกิจอื่นๆตลอดห่วงโซ่ ที่ต้อง “ล่มสลาย” เพราะหมูไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
วันนี้เงื่อนปมความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงกำลังจะถูกคลายออก เล้าหมูที่จำต้องปิดร้าง กำลังจะเปิดรับหมูชุดใหม่เข้าเลี้ยง ภายใต้มาตรการการป้องกันโรค Biosecurity ที่ต้องยกระดับให้เข้มข้นที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการหาแหล่งเงินทุน การเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ที่ต้องใช้สรรพกำลังของทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนที่มีศักยภาพ มาร่วมกันดำเนินการให้เร็วที่สุด ที่สำคัญรัฐต้องเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้าง ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทำลายหมู และความเสียหายจากเหตุน้ำท่วม พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งลดหนี้ พักหนี้ พักดอกเบี้ย และช่วยลดต้นทุนการเลี้ยง อย่างเช่น การลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็น 0% เป็นต้น มาตรการทั้งหมดนี้ จะช่วยจูงใจให้คนเลี้ยงกลับเข้าระบบได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจว่า เกษตรกรต้องใช้เวลาเลี้ยงหมู 6 เดือน ถึงจะได้น้ำหนักจับออกที่ 100 กิโลกรัม ต้นทุนที่คนเลี้ยงต้องจ่ายวันนี้สูงถึง 12,000 บาทต่อตัวแล้ว และกว่าหมูหน้าฟาร์มจะไปถึงหน้าเขียงขายให้ผู้บริโภคนั้น ต้องมีต้นทุนระหว่างทางมากมาย โดยหมู 1 ตัว เมื่อฆ่าและชำแหละแล้ว จะมีน้ำหนักที่หายไป ประมาณ 8-10 กิโลกรัม (จากเลือด ขน มูลสุกร) ที่เหลือ 90-92 กิโลกรัม เป็นหมูซีกที่ขายได้จริง ซึ่งขั้นตอนก่อนจะได้หมูซีกนี้ มีค่าใช้จ่ายประมาณตัวละ 500 บาท เมื่อหมูซีกถูกส่งไปเขียงหรือร้านขายปลีก ก็มีค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง ทั้งค่าขนส่ง ค่าแรงชำแหละขาย ค่าเช่าแผง ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าเสื่อมอุปกรณ์ รวมถึงน้ำหนักที่สูญเสียระหว่างการขาย ฯลฯ นี่คือค่าใช้จ่ายและต้นทุนการจัดการก่อนถึงมือผู้บริโภคทั้งสิ้น ที่สำคัญหมูซีกก็ไม่ใด้ขายราคาเดียวกันหมด จากชิ้นส่วนที่ได้ ทั้งเนื้อสันใน สันนอก ไหล่ สะโพก สันคอ สามชั้น มีส่วนที่ขายได้ราคาเท่ากับเนื้อแดงเพียง 44 กิโลกรัม เท่านั้น
สำคัญคือผู้บริโภค ถ้าเห็นว่าราคาสูง ก็แค่หันไปบริโภคโปรตีนอื่น ๆ แทนหมู เช่น ไก่ ปลา เนื้อ หรือไข่ โดยเฉพาะไก่ที่เป็นโปรตีนทดแทนกันได้ ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาทเท่านั้น ปัญหานี้แก้ง่าย แค่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี และเร่งเพิ่มซัพพลายหมูเข้าระบบให้เร็วที่สุด จากนี้ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเอง โดยไม่ต้องไปควบคุมให้เสียเวลา
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ออกมาระบุว่า ขณะนี้ ไทยพบการระบาดของโรคเพิร์ส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) โรคอหิวาต์สุกรธรรมดา (Classical Swine Fever: CSF) และโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (Porcine Epidemic Diarrhea : PED) เท่านั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันราคาหมูในปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อมีโรคระบาดในหมู จะต้องทำลายฆ่าทิ้งและฝังกลบ เพื่อลดความเสี่ยงกระจายโรคในพื้นที่รอบ ๆ โดยภาครัฐจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ มีการนำเชื้อมาตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และก่อนหน้านี้ที่มีกระแสข่าวการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ได้สร้างความสับสนแก่ประชาชนรวมถึงเกษตรกร ซึ่งอาจเพราะโรคระบาดในหมูทั้ง 3 โรคดังกล่าวข้างต้น มีอัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงกัน จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ โดยไทยยังไม่มีการระบาดของโรค ASF แต่อย่างใด