นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยถึงนโยบายการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในปี 2565 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายที่จะเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิต ต่อยอดอุตสาหกรรมกลุ่มเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และการเพิ่มเติมอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) โดยจะให้ความสำคัญต่อการยกระดับพัฒนาและคำนึงถึงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดยในเร็ว ๆ นี้ จะนำเสนอนโยบายสำคัญต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศักยภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเกิดการบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ต่อยอดการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของไทยในภูมิภาค ที่จะมีการกำหนดสาระสำคัญของกระบวนการผลิตในเขตประกอบการเสรี (Free Zone) เพื่อให้สอดรับกับมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่รวม 18 บริษัท 26 โครงการ กำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) รวม 136,000 คัน ซึ่งการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จะช่วยให้ไทยสามารถดำเนินการไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ตามแผนที่ประกาศในเวที การประชุม COP26 ได้อีกทางหนึ่ง
อีกทั้ง เร่งจัดทำพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่จะแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2565 เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการส่งเสริมการผลิตและใช้ประโยชน์พลังงานหมุนเวียนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนและเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่นำร่องในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และในจังหวัดนครสวรรค์ เกิดการลงทุนแล้ว 5 โครงการ มูลค่ากว่า 39,870 ล้านบาท รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งมีผู้ผลิตได้ใบรับรองแล้ว 5 ราย จำนวน 49 ใบรับรอง
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะเร่งพัฒนาพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ปาล์ม แป้งมันสำปะหลัง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม และเร่งสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันการพัฒนาอาหารอนาคต โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกรอบแนวทางพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเป้าหมายใหม่ (Product Champion) รวมถึงให้เกิดการลงทุนเชิงพาณิชย์ และขับเคลื่อน flagship ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
อีกทั้งเตรียมที่จะนำเสนอแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2563-2570) ต่อ กอช. เพื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นอกจากนี้จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ตามเป้าหมายที่มีการคาดไว้ใน 3 ปีข้างหน้า จะเกิดลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซี เริ่มประยุกต์ใช้เตรียมความพร้อมสำรวจการออกแบบระบบและเชื่อมหาแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับแรงงานไทยให้ชำนาญด้านนวัตกรรมขั้นสูง เกิดการจ้างงาน เงินเดือนและรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3746 วันที่ 6-8 มกราคม 2565