นายสินธุ ปัญญาศักดิ์ สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน อ.เมือง จ.ลำพูน เผยว่า ขณะนี้เกษตรกรรายย่อยหลายพื้นที่ เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความพร้อมมากในการเลี้ยงหมูรอบใหม่ จึงขอให้รัฐเป็นผู้นำเดินหน้าส่งต่อมาตรการช่วยเหลือที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้กลับเข้ามาในระบบโดยเร็วที่สุด และส่งเสริมให้รอบด้าน ทั้งการเตรียมเล้าและโรงเรือนที่มีระบบป้องกันโรค ที่ช่วยสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงให้เกษตรกรหลังนำลูกหมูเข้าเลี้ยงใหม่
ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการขณะนี้ถือว่าเดินมาถูกทาง จะช่วยขับเคลื่อนการเลี้ยงสุกรของรายย่อยไปข้างหน้า สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรให้ลงหมูรอบใหม่ได้ พร้อมช่วยแก้ปัญหาหมูแพงของประเทศได้เร็วขึ้น ดังนั้นไม่ควรติดกับดักอยู่กับปัญหาเดิม หรือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ควรมองการสร้างอนาคตที่ดีกว่า
ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติทั้งงบประมาณ และสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลช่วยเหลือแบบองค์รวม ทั้งมาตรการเร่งด่วน งดส่งออกสุกร 3 เดือน มาตรการระยะสั้น ขยายกำลังการผลิตแม่หมู และส่งเสริมการผลิตข้าวโพดในประเทศทดแทนการนำเข้า ส่วนระยะยาว เร่งยกระดับมาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) ระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความปลอดภัยทางชีวภาพ ลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้ามาสู่ฟาร์ม และยังเป็นการป้องกันการกระจายของเชื้อโรคภายในออกจากฟาร์ม รวมถึงการแพร่กระจายของโรคในประชากรสัตว์
ขณะเดียวกันในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเกษตรกรรายย่อย รัฐควรเร่งจ่ายเงินชดเชย จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และปัจจัยการผลิตที่จำเป็น พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการป้องกันโรค
นายสินธุ กล่าวอีกว่า มาตรการดังกล่าวช่วยสร้างความมั่นใจและหลักประกันให้กับเกษตรกรรายย่อย กล้าที่จะลงเลี้ยงหมูอีกครั้ง ซึ่งผู้เลี้ยงอยากเห็นมาตรการส่งเสริมที่สร้างขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ทั้งปัจจัยการผลิต ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงปล่อยราคาให้เป็นไปตามกลไกการตลาด เพื่อสร้างเสถียรภาพในอุตสาหกรรมหมูอย่างยั่งยืน
“ผมเชื่อว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีความพร้อมที่จะร่วมช่วยแก้ปัญหาราคาหมู อยากให้สังคมมองมุมบวก ว่าเราสามารถป้องกันโรคได้นานกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาค ทำให้คนไทยมีเนื้อหมูคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม ทั้งที่มีโรคระบาดทั้งภูมิภาค” นายสินธุ กล่าว
ที่ผ่านมา เกษตรกรรายย่อยนอกจากต้องทำลายหมูจากโรคระบาดแล้ว ยังแบกภาระราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ที่เพิ่มขึ้นไปถึง 30-40% ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของภาคปศุสัตว์ 60-70% อยากขอให้ภาครัฐปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตด้วย