รถไฟไทย-จีน ไฮสปีด รฟท. ก้าวสู่ปีที่5 ปี2565 สร้างเสร็จ 3.5กิโล

15 ม.ค. 2565 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2565 | 17:04 น.

รถไฟไทย-จีนเฟสแรก ช่วง กรุงเทพฯ-โคราช ของรฟท . เข้าสู่ปีที่5 ปี2565 สร้างเสร็จ 3.5 กม.จาก253กม.14สัญญาเหตุ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า พรฎ.เวนคืนยังไม่ประกาศ การระบาดโควิด โอมิครอน ซ้ำเติมรับเหมา ฟันราคา วัสดุก่อสร้างเหล็กต้นทุนขนส่งราคาน้ำมันพุ่ง

 

โครงการรถไฟไทย-จีน  รถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด)โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน  เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตร(กม.) 14 สัญญา มูลค่า  179,000ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ก้าวเข้าสู่ปีที่5 (ปี2565)

ผลงานคืบหน้าเพียง3.53%หรือการก่อสร้างแล้วเสร็จ 3.5กิโลเมตร ในส่วนของสัญญาที่1-1สถานีกลางดง-ปางอโศก ซึ่งเป็นส่วนที่กรมทางหลวงดำเนินการนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเริ่มงานก่อสร้างโครงการสัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก  3.5 กม. โดยมอบกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างคันทางเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม2560

ขณะในส่วนของเอกชนผู้รับจ้าง เริ่มเซ็นสัญญาเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ ยังประสบปัญหา ล่าช้าเพราะ หลายสัญญาไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เนื่องจากติดปัญหาพระราชกฤษฎีกาเวนคืนยังไม่ประกาศใช้ เพราะมีการปรับแนวจากการร้องเรียนประชาชนอีกทั้งผ่านเข้าพื้นที่หน่วยงานราชการอื่นอย่างกรมธนารักษ์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นต้นต้องยื่นขอการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ใหม่

ขณะสัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้างยังเป็นไปอย่างล่าช้า นอกจากการระบาดโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบแล้วยังมี ปัญหาจากการ ตัดราคาต่ำกว่าราคากลาง  ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง หลักอย่าง เหล็กที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งราคาน้ำมัน

 สำหรับ สัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง มี10สัญญา ประกอบด้วยสัญญาที่ 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. คืบหน้า 79.28% ล่าช้า 20.72%, สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง 12.2 กม. คืบหน้า 0.29% ล่าช้า 5.51%, สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง  21.6 กม. คืบหน้า 1.48% ล่าช้า 11%

สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด  37.4 กม. คืบหน้า 14.38% เร็วกว่าแผน 4.25%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 12.3 กม. คืบหน้า 2.01% ล่าช้า 8.5%, สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ก่อสร้างเดือน มกราคม2565

.

สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ 23 กม. คืบหน้า 0.36% ล่าช้า 2.84%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และสัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.6 กม. เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง ขณะที่สัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย  12.9 กม. คืบหน้า 9% เร็ว 1.05%

ส่วนที่เหลืออีก 3 สัญญา ยังรอลงนามสัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า  30.2 กม. ยังรอการพิจารณาของศาลปกครอง, สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง  15.2 กม. อยู่ระหว่างกำหนดวงเงินก่อสร้างช่วงทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.3 กม. ติดปัญหาเรื่องสถานีอยุธยา ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

ประเมินว่ารถไฟไทย-จีน เฟสแรกซึ่งเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จจากปี2566 มาเป็น2569 อาจต้องรอต่อไป