นายกำแหง สายวิภู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุดรธานี เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ทั่วไปธุรกิจการบินของท่าอากาศยานอุดรธานี ว่า ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2564 ถึงปัจจุบัน เป็นช่วงไฮซีซั่นต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ มีนักเดินทาง นักธุรกิจ ประชาชน ใช้เครื่องบินเดินทางเข้า-ออก ผ่านท่าอากาศยานอุดรธานี เพิ่มขึ้นคึกคัก ทำให้ท่าอากาศยานอุดรธานีมียอดผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด ในกลุ่มสนามบินสังกัดกรมท่าอากาศยาน
แต่ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการสายการบินว่า ขอลดจำนวนเที่ยวลงเพื่อดูสถานการณ์ เนื่องจากการระบาดของโอไมครอนในหลาย ๆ พื้นที่ และคนเริ่มระวังการใช้จ่ายจากภาวะสินค้าปรับราคาขึ้น
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหลังเทศกาลตรุษจีน จำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารจะค่อย ๆ ลดลงไปอีก แต่ทั้งนี้ในสัปดาห์ก่อนเทศกาลตรุษจีน ยังมีเที่ยวบริการเฉลี่ยวันละ12-14 เที่ยวบิน และหลังจากนั้นคาดว่าเที่ยวบินน่าจะลดลงไปมากกว่านี้
สถานการณ์อาจจะซึมยาวไปจนถึงปีหน้าตามที่ WHO คาดการณ์สถานการณ์เชื้อโควิค-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่กลับมาระบาดอีกรอบ จะคลี่คลายกลางปี และต้องถึงปีหน้าที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น และการปรับเพิ่มราคาสินค้าที่สูงขึ้นหลังหมูปรับขึ้นราคา
นายกำแหงฯกล่าวต่อไปว่า ปลายปี 2564 ช่วงเดือนพ.ย.-ต้นธ.ค. ท่าอากาศยานอุดรธานี มีผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึงวันละเกือบ 20 เที่ยวบิน/วัน ผู้โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นในบางวันถึงวันละ 4,000 คนเศษ ประชาชนเดินทางในช่วงก่อนและหลังเทศกาลปีใหม่ ทำให้ท่าอากาศยานอุดรธานีมีผลประกอบการสูงที่สุดของประเทศ ในกลุ่มสนามบินที่สังกัดกรมท่าอากาศยาน แซงหน้าสนามบินกระบี่ โดยมีสนามบินนครศรีธรรมราชมาเป็นอันดับ 2
อย่างไรก็ตามคาดว่าหลังเทศกาลตรุษจีน ยอดผู้โดยสารจะลดลง เนื่องจากหมดเทศกาลสำคัญของประเทศ ประชาชนส่วนหนึ่งใช้จ่ายเงินไปกับทั้งสองเทศกาลนี้ไปมากแล้ว ประกอบกับช่วงนี้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นมาก จนเกิดผลกระทบไปยังครัวเรือน ในขณะที่เศรษฐกิจทั่ว ๆ ไปอยู่ในสภาพไม่ค่อยดี และส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจการบินด้วย บวกกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิค-19 สายพันธุ์โอไมครอนภายในประเทศหลายพื้นที่ ทำให้คนชะลอตัวเดินทาง หน่วยงานต่าง ๆ สั่งให้เจ้าที่เวิร์ค ฟอร์ม โฮม คาดว่าธุรกิจการบินจะมีสภาพขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ไปอีกระยะหนึ่ง
หลังจากเทศกาลตรุษจีนแล้ว จะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนเป็นฤดูร้อนผู้โดยสารจะลดต่ำลง เมื่อเลยเข้าสู่ฤดูฝน ผู้โดยสารก็ยิ่งจะลดน้อยลงไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งหากว่าเขื้อโควิค-19 และโอไมครอน ไม่ลดลง คาดว่าจะทำให้ธุรกิจการบินเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เหมือนกับช่วงการระบาดหนักเชื้อโควิค-19
หากว่าโชคดีสถานการณ์เป็นไปตามที่ WHO ให้การคาดการณ์ว่า ในกลางปี 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดจะค่อย ๆ ลดลง จนถึงปี 2566 ก็จะกลายเป็นโรคประจำท้องถิ่น ก็จะทำสถานการณ์ธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัว เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินสะดวก รวดเร็ว ประหยัด
นายกำแหงฯกล่าวอีกว่า สำหรับท่าอากาศยานอุดรธานี เป็นหน่วยงานบริการสาธารณะของรัฐ จึงไม่สามารถหยุดให้บริการได้ ทางหน่วยงานจึงกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ทั้งกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ให้รักษามาตรการดูแลรักษาตัวเอง หากสงสัยว่าตนเองจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ให้รีบรายงานให้หัวหน้าส่วนทราบ เพื่อจะดำเนินการตรวจวัดร่างกายและรักษาอาการ
ส่วนผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบิน รวมถึงญาติพี่น้อง ประชาชนที่เดินทางมาส่งผู้โดยสาร หรือมีภารกิจที่จำเป็นต้องเข้าใช้อาคารผู้โดยสาร จะต้องเข้า-ออก ตามช่องทางที่ท่าอากาศยานอุดรธานีกำหนด ผ่านจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หากสงสัยเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจวัดซ้ำ หากพบเป็นผลบวกก็จะส่งตัวรักษาตามขั้นตอนทันที และต้องรายงานผลการปฏิบัติให้ทางจังหวัดและ ศบค.จังหวัดทุกวัน
รวมไปถึงมาตรการรักษาความสะอาดภายในตัวอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชนิด ภายในตัวอาคารผู้โดยสาร ด้วยการเพิ่มรอบการทำความสะอาดให้ถี่ขึ้น พร้อมให้ทำการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในช่วงที่อาคารผู้โดยสารไม่มีเที่ยวบิน เพราะเป็นอาคารปิด นอกจากนี้แล้วก็ให้ดำเนินการตามการรักษาความปลอดภัย ของคณะกรรมควบคุมโรคติดต่อ(ศบค.)จังหวัดอย่างเข้มข้น
“ส่วนมาตรการสำหรับผู้โดยสารและประชาชนที่จะเดินทางเข้าตัวอาคารผู้โดยสาร ต้องรักษามาตรการรักษาความปลอดภัยของ ศบค.จังหวัด กำหนดให้เข้า-ออกคนละช่องทางที่กำหนด ต้องเดินผ่านเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หากพบหรือสงสัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะถูกจับตรวจ ATK.โดยเจ้าที่ที่ประจำการอยู่ตรงนั้นเลย” นายกำแหงฯกล่าวย้ำ