ดันแพร่ เป็น “เมืองในป่า” สร้างจุดขายใหม่ ดูดทั่วโลกพำนักสร้างรายได้เพิ่ม

17 ม.ค. 2565 | 11:33 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 18:43 น.

สถาบันการสร้างชาติ เสนอยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดแพร่ เป็น “เมืองในป่า” บูรณาการภาคการท่องเที่ยว อาหาร สุขสภาพ และการดูแลผู้สูงวัย สร้างจุดขายใหม่ให้เป็นจุดหมายที่ผู้คนทั่วโลกอยากเข้ามาพำนักและใช้ชีวิต เป้าอย่างต่ำปีละ 5,000 คน สร้างรายได้เพิ่มปีละ 4,000 ล้าน

 

รายงานข่าวเผยว่าเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565  ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาจังหวัดแพร่เพื่อการสร้างชาติ” โดยมีนายสมหวัง พ่วงบางโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวเปิดการสัมมนา มีหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนที่สนใจร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

 

ทั้งนี้ประธานสถาบันการสร้างชาติได้หยิบยกบทวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของเมืองแพร่ ที่เป็นเมือง “จน แก่ เจ็บ พิการ” จากการที่แพร่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก ผลผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มต่ำ และมีนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวน้อย ด้วยกิจกรรมเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คนหนุ่มสาวย้ายออกไปทำงานในจังหวัดอื่น ส่งผลทำให้แพร่มีสัดส่วนคนชราสูงติดอันดับ 4 ของประเทศ นอกจากนี้ คนจังหวัดแพร่ยังมีปัญหาด้านสุขสภาพ (Wellness) มีอัตราการตายต่อประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีสัดส่วนคนพิการสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ประชากรในจังหวัดแพร่จึงลดลงต่อเนื่องโดยเฉลี่ยปีละ 5,000 คน

 

ดันแพร่ เป็น “เมืองในป่า” สร้างจุดขายใหม่ ดูดทั่วโลกพำนักสร้างรายได้เพิ่ม

 

ในการหยุดยั้งปัญหาดังกล่าว ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้เสนอวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดแพร่ให้เป็น “เมืองในป่า” โดยบูรณาการเศรษฐกิจป่า กับ การท่องเที่ยว อาหาร  สุขสภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นจุดแกร่งของประเทศไทย เพื่อดึงดูดผู้คนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในจังหวัดแพร่ อาศัยจุดแข็งของแพร่ที่เป็นเมืองเงียบสงบ เป็นธรรมชาติ อากาศดี และยังดำรงวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิม ประกอบกับค่าครองชีพยังไม่สูง

 

นอกจากนี้เสนอให้มีการแก้กฎหมายอนุญาตให้นำพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม มาพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่รูปแบบใหม่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า ออกแบบระบบให้คนสามารถอยู่กับป่าโดยใช้ประโยชน์ ไม่ทำลาย แต่พัฒนาให้ป่าสมบูรณ์มากขึ้น และตั้งเป้าดึงคนไทยและคนต่างชาติเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 5,000 คน เน้นคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่จังหวัดแพร่ขาดแคลน และมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งเงิน ประสบการณ์ และเครือข่าย นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าดึงดูดกลุ่มคนทำงานทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้เข้ามาทำงานและพำนักเป็นระยะเวลา 3-6 เดือนในจังหวัดแพร่ปีละ1 หมื่นคน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ 2,000-4,000 ล้านบาทต่อปี

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจเดิม โดยการยกระดับสินค้าและทุนวัฒนธรรม 7 ประเภท หรือ 7F ได้แก่ Forest (ไม้สัก) Food (อาหาร) Fabric (ผ้าพื้นเมือง) Furniture (เฟอร์นิเจอร์ไม้) Fluid (สุราพื้นบ้าน) Folk (ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและชนเผ่า) และ Fusion (ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ) โดยใช้กระบวนการสร้างแบรนด์ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การพัฒนาการผลิต การตลาด และการจัดการ รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจใหม่ คือ การส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) และเศรษฐกิจจากโครงการระบบขนส่ง เช่น การพัฒนารถไฟท่องเที่ยว การพัฒนาสถานีรถไฟเป็นแลนด์มาร์กใหม่โดยใช้สถาปัตยกรรมนานาชาติ การพัฒนาการแสดงแสง สี เสียงในอุโมงค์รถไฟ เป็นต้น 

 

ขณะเดีวกันสำหรับแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดแพร่ในระยะสั้น เสนอให้พัฒนาโครงการวิทยาลัยนวัตกรรมการป่าไม้และการเกษตร (มหาวิทยาลัยแม่โจ้เดิม) ให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัย ด้วยการออกแบบให้เป็นทั้งสภาบันการศึกษา ต้นแบบเมืองในป่า พื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนของสถาบันการสร้างชาติเริ่มต้นการพัฒนาจากระดับจุลภาค ผ่านโครงการวัดสร้างชาติ ชุมชนสร้างชาติต้นแบบ และโรงเรียนสร้างชาติ และการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ เพื่อสร้างขบวนการขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน ผนวกกับการขับเคลื่อนของภาครัฐกิจจากบนลงล่าง โดยหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยพลังของคนแพร่ และสร้างต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับจังหวัดอื่น ๆ  ต่อไป