นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินโครงการ "สร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโควิด-19" ให้กับบุคลากร กนอ. ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) แนวทางการดูแลตนเอง การทำ Home Isolation เพื่อรักษาตนเองที่บ้าน และการทำ Company/Factory Isolation รวมถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Rapid Antigen Test Kit (ATK) แก่บุคลากรของ กนอ.และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อ ลดความเสี่ยง รวมถึงลดภาระสถานพยาบาล
“การสัมมนาในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระบบบริการสุขภาพ ความช่วยเหลือ รวมทั้งช่องทางความร่วมมือต่างๆ ตามแนวทางการดำเนินการของสมาพันธ์ฯ ที่จะร่วมสนับสนุนภารกิจที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แก่ผู้ประกอบการ ให้ได้รับการตรวจอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้เสี่ยงสูงให้สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในโรงงานต่างๆ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น”
สำหรับรูปแบบของการจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นการจัดผ่านระบบออนไลน์ (MS Teams ) โดยมีวิทยากรจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (แพทย์หญิงหรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม) บรรยายในหัวข้อ ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และระบบบริการสุขภาพ ความช่วยเหลือ รวมทั้งช่องทางความร่วมมือต่างๆ
และวิทยากรจากสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการ เพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (นายแพทย์ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมฯ) ในหัวข้อ แนวทางการดำเนินการของสมาพันธ์ฯ ที่จะร่วมสนับสนุนภารกิจที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แก่ผู้ประกอบการ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 1,000 คน ประกอบด้วย บุคลากรของ กนอ. และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มากขึ้น รัฐบาลจึงยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด
โดยได้ออกประกาศข้อกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 41) เพื่อใช้ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดในไทย
ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 (ข้อ 6) การยกระดับการปฏิบัติงานเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด ด้วยการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น