วันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่ห้อง ประชุมเก็ตโฮ่ ชั้น 5 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับ สนุนบริการสุขภาพ ผนึกกำลังครั้งใหญ่ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กฎบัตรไทย บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด จัดประชุมและเสวนาออนไลน์ผ่านระบบซูม มีทติ้ง
กิจกรรมครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็น เพื่อเสนอการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor-AWC) ในลักษณะเดียวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีกฎหมายรองรับ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างอันดามันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจเวลเนส โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาพื้นที่ (บพท.) ตั้งเป้าหมายมีส่วนแบ่งตลาดเวลเนสโลก ร้อยละ 10 หรือ 24,500 ล้านบาท ในปี 2570
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนระบบนิเวศรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม Wellness Hub ของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพ การส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพ หรือเศรษฐกิจเวลเนส ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการยกระดับเศรษฐกิจเวลเนส ให้เป็นสาขาหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระหว่างและภายหลังการระบาดของโควิด-19
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีนโยบายพัฒนาใบอนุญาตเวลเนส ใบเดียว หรือ wellness single license เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงแรม และกิจการเวลเนส สามารถนำกิจกรรม เวลเนสสาขาต่างๆ อาทิ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ตะวันออก งานเวชกรรมประเภทบริการความงาม สปา การฟื้นฟูสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ หรือดิจิทัลเฮลท์ เข้าดำเนินการในโรงแรมได้ เช่นเดียวกับต่างประเทศ
นายแพทย์ธเรศกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดทำแนวคิดการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (AWC) ให้เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาเศรษฐกิจส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น
ด้วยพื้นที่อันดามันมีความพร้อมด้านสมรรถนะของโรงแรมเวลเนส เนื่องจากกรมฯ กับกฎบัตรไทย ได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหาร มีโรงแรมผ่านการฝึกอบรมไปแล้วจำนวน 110 แห่ง นอกจากนั้น จังหวัดภูเก็ตยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถานที่จัดงาน International Wellness Expo ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานและงบประมาณไปแล้วเช่นกัน รวมทั้ง ภูเก็ตยังมีความพร้อมทางด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน
ด้วยเหตุนี้ กรมฯ จึงร่วมกับกฎบัตรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ บพท. และองค์เครือข่ายจัดประชุมระดมความคิดเห็นการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน หรือ AWC เพื่อนำข้อเสนอจากภาคส่วนเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงาน Wellness hub คณะกรรมการ Medical Hub และคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนประเด็นการสนับสนุนองค์ความรู้การวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการสร้างฐานการวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่า ที่ผ่านมา บพท. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เทศบาลตำบลกะรน และกฎบัตรไทย ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่กะรนเวลเนสแซนด์บ็อกซ์ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ขนาดเล็กเพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ทั่วทั้ง AWC โดยกิจกรรมเวลเนสจะเป็นกิจกรรมหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจสาขาอื่นให้เติบโตตาม
ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทย ในฐานะคณะทำงานพัฒนา Wellness Hub กล่าวเสริมว่า นอกจากการประกาศให้อันดามันเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษด้านเวลเนสแล้ว AWC ยังจะเป็นพื้นที่นวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกองค์กร ต้องร่วมมือกันยกระดับ ทั้งทางกาย ภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการผลิต การบริการ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตและการบริการ
ให้เศรษฐกิจเวลเนสกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสุขภาพไปยังชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่สำคัญได้แก่ การสร้างโอกาสในการฟื้นฟูศาสตร์การแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์ทางเลือก หรือผลิตภัณฑ์ สมุนไพร ซึ่งทุกระดับจะได้รับประโยชน์ไปพร้อมกัน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,752 วันที่ 27-29 มกราคม พ.ศ.2565