นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท ดาว ได้ดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ,องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเทศบาลตำบลปากน้ำประแส
ร่วมมือเพิ่มเติมกับ 4 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ FEED มูลนิธิโลกสีเขียว ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC)
และบริษัท SecondLife ยกระดับการดำเนินโครงการ ดาวและภาคีป่าชายเลนประเทศไทย หรือ Dow & Thailand Mangrove Alliance สู่โมเดลต้นแบบการอนุรักษ์ป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมทุกมิติ หนุนเยาวชนเรียนรู้เรื่องป่าชายเลน ชูแอปพลิเคชั่น iNaturalist ดึงทุกภาคส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อนและลดขยะทะเลแบบยั่งยืน
ทั้งนี้ เพราะป่าชายเลนมีส่วนช่วยในการแก้วิกฤตสภาวะโลกร้อน และทำหน้าที่เสมือนตะแกรงธรรมชาติ คอยดักกรองมลพิษและขยะต่าง ๆ ไม่ให้ลงสู่ทะเล Dow จึงได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 13 ปี และต่อมาได้ก่อตั้งความร่วมมือดังกล่าว
โดยนำร่องโครงการในพื้นที่ป่าชายเลนของเทศบาลตำบลปากน้ำประแสในปี พ.ศ. 2563 และประกาศยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งมากขึ้นร่วมกับ 4 พันธมิตรใหม่ในปีนี้รวมเป็น 8 องค์กร
สำหรับกิจกรรมสำคัญในปีนี้ มีแผนที่จะสนับสนุนการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิต สร้างองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนของไทยให้มีความสมบูรณ์ ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว Blue carbon destination เชิงนิเวศครบวงจร สร้างต้นแบบการจัดการขยะทะเลในชุมชนริมน้ำ
และเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนร่วมสำรวจสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนด้วยแอปพลิเคชัน iNaturalist ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย เนชั่นแนล จีโอกราฟิก (National Geographic) เพื่อให้ความรู้และจัดเก็บฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมสำรวจห้องเรียนธรรมชาติ
สร้างความตื่นตัวในการ่วมมือฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และขยะทะเลตามแผน (Roadmap) ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563 - 2567) เพื่อยกระดับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอ่าวไทย-ทะเลอันดามันไปสู่ระดับสากล
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ไม่ใช่บทบาทของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องสร้างเครือข่ายร่วมกันฟื้นฟูและแก้ปัญหา เพื่อให้การอนุรักษ์ป่าชายเลนประสบความสำเร็จและยั่งยืน
ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐ เอกชนและชุมชน ครั้งสำคัญของไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ. 2608