ไทยใช้สิทธิ FTA 11 เดือนปี 64 พุ่ง 34% ยานยนต์ ผลไม้สด ครองแชมป์สินค้าส่งออกไทย

03 ก.พ. 2565 | 03:31 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2565 | 10:34 น.

ไทยใช้สิทธิ FTA 11 เดือนปี 2564  พุ่ง 34% ยานยนต์ ผลไม้สด ครองแชมป์สินค้าส่งออกไทย  ครองแชมป์ตลาดอาเซียนและจีน

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – พฤศจิกายน) มีมูลค่ารวม 69,746.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.13 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึงร้อยละ 78.82 โดยเป็นการใช้สิทธิฯ ที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาด และมีสินค้าสำคัญที่พบว่ามีมูลค่าการส่งออกสูง

ไทยใช้สิทธิ FTA 11 เดือนปี 64  พุ่ง 34% ยานยนต์ ผลไม้สด ครองแชมป์สินค้าส่งออกไทย

 

และมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายตลาด อาทิ ยานยนต์ (ขยายตัวในตลาดอาเซียน จีน ออสเตรเลีย ชิลี) ผลไม้ (ขยายตัวในตลาดอาเซียน จีน เกาหลี) และอาหารปรุงแต่ง (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เปรู เกาหลี) เป็นต้น โดยตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 24,028.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีตลาดส่งออกสำคัญคือ เวียดนาม (มูลค่า 7,002.55 ล้านดอลลารืสหรัฐฯ) อินโดนีเซีย (มูลค่า 5,327.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มาเลเซีย (มูลค่า 4,522.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และฟิลิปปินส์ (มูลค่า 4,227.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์สำหรับขนส่งบุคคล น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส ผลไม้สด ฝรั่ง มะม่วง มังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น 

อันดับ 2 จีน (มูลค่า 23,310.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ทุเรียนสด มันสำปะหลัง ฝรั่ง มะม่วง มังคุด รถยนต์และยานยนต์ขนส่งบุคคล ความจุของกระบอกสูบ 1,500 - 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร ผลไม้สด เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ ลางสาด เป็นต้น

อันดับ 3 ออสเตรเลีย (มูลค่า 7,647.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ รถยนต์ขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก ไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์ขนส่งบุคคลความจุของกระบอกสูบเกิน 2,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร เครื่องปรับอากาศติดผนังและส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอยหรือรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงิน เป็นต้น

อันดับ 4 ญี่ปุ่น (มูลค่า 6,453.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ เนื้อไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส ชิ้นเนื้อและส่วนอื่นของสัตว์ปีกแช่เย็นจนแข็ง กุ้งปรุงแต่ง ลวดทองแดง เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า เป็นต้น

อันดับ 5 อินเดีย (มูลค่า 4,414.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ลวดทองแดง โพลิ (ไวนิลคลอไรด์) ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารสุนัขหรือแมว ตู้เย็น เป็นต้น

ในส่วนของข้อมูลสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ FTA กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้ FTA  5 อันดับแรก มีดังนี้ อันดับ 1 ไทย-เปรู (ร้อยละ 100) อันดับ 2 อาเซียน-จีน (ร้อยละ 96.46) อันดับ 3 ไทย-ชิลี (ร้อยละ 96.62) อันดับ 4 ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 79.32) และอันดับ 5 อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 71.24)

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA จำนวน 11 ฉบับ ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA) ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-เปรู (TPCEP) ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) โดยไม่รวมถึงความตกลง RCEP ซึ่งเป็นความตกลงใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกงที่ภาษีนำเข้าเป็น 0 จึงไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ FTA เพื่อลดภาษี และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่ไม่มีการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิ FTA แต่เป็นการรับรองตนเองของผู้ส่งออก (self-declaration)