นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. พร้อมผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดและได้กำหนดนโยบายมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ได้แก่ 1.Sources Transformation หรือการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ (HydroFloating Solar Hybrid) และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 9 แห่ง
การดำเนินงานในปี 2565 นี้จะดำเนินการติดตั้งที่เขื่อนอุบลรัตน์ ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 850 ล้านบาท และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ หรือ COD ได้ในปี 2566 หลังจากดำเนินโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ไปแล้ว ด้วยเงินลงทุน 2,265 ล้านบาท และจะทยอยลงทุนติดตั้ง Hydro Floating Solar Hybrid ตามโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่าง ๆ โดยในปี 2579 จะมีปริมาณสะสมรวม 5,325 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท
รวมถึงการดำเนินงานด้าน Grid Modernization ที่ปีนี้จะลงทุนก่อสร้างสายส่งเพื่อรองรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 20% ซึ่งจะส่งผลให้เป็นโครงข่ายไฟฟ้ามีความทันสมัยและยืดหยุ่นสามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมได้อย่างมั่นคง ใช้งบลงทุนราว 32,505 ล้านบาท อีกทั้ง การใช้เทคโนโลยีทันสมัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในอนาคตมีแผนที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน 66,000 ล้านหน่วย
2.Sink Co-creation หรือการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ( 2565-2574) ซึ่งจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ใช้เงินลงทุนราว 11,438 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีแผนที่จะปลูกป่า 30,000 ไร่ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 16 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (KtCO2)
นอกจากนี้ เป็นการดำเนินงานด้าน Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) หรือการลงทุนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนนำไปใช้ประโยชน์และการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในปีนี้จะทำการเริ่มศึกษาออกแบบเทคโนโลยี CCUS โดยมีเป้าหมายที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ CO2 ในปี 2588 และจะช่วยดักจับ CO2 ในปริมาณ 3.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปี 2593
3.Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดยดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้า และช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 มีเป้าหมายที่ละการปล่อยคาร์บอนฯได้ 9.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าในปี 2593 ซึ่งในปี 2565 มีเป้าหมายดำเนินงานลดปล่อย CO2 ได้ราว 2.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
รวมถึงการดำเนินงานด้าน Bio-Circular-Green (BCG) Economy ที่ในปีนี้จะศึกษาศักยภาพของ กฟผ. ในการจัดทำ Circular Economy ในองค์การ เพื่อนำไปสู่ประยุกต์ใช้หลักการ BCG Model เพื่อลดการปล่อย CO2 ที่คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ราว 0.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าในปี 2593
นางสาวจิราพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานอื่น ๆ ที่สนับสนุน Low Carbon ไม่ว่าจะเป็น EV Business Solutions ซึ่งในปี 2565 นี้จะขยายสถานีอัดประจุ 70 สถานี นำระบบ Central Charging PointOperator Platform เข้าใช้งาน ใช้งบลงทุนราว 148 ล้านบาท การสร้างศูนย์เรียนรู้ EGATEnergy Excellence Center (EGAT-EEC) ใช้งบ 258.5 ล้านบาท
รวมทั้งการพัฒนาโรงงาน Repurpose Battery ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาโรงงานฯ เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท และพัฒนาโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อยู่ระหว่างขออนุมัติและดำเนินการก่อสร้างโรงงานฯ วงเงิน 1,028 ล้านบาท รวมถึง Green Energy Trading หรือการซื้อขายพลังงานสีเขียว ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับลูกค้า ใช้งบลงทุน 930 ล้านบาท เป็นต้น
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ 2565