นํ้ามันรั่ว‘ระยอง’ เศรษฐกิจสูญพันล้าน จี้ตั้งทีมกู้ภัยจังหวัด

04 ก.พ. 2565 | 22:30 น.

การเก็บกู้คราบน้ำมันระยองคลี่คลาย ผลตรวจวัดสารปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์ปกติ เปิดให้กลับมาเที่ยวแล้ว หอการค้าระยองหมดศรัทธารัฐขอจังหวัดตั้งทีมรับมือภัยพิบัติเองเพื่อความคล่องตัว สภาอุตฯท่องเที่ยวระยองชี้เลิกบุกกิ้ง 70% ต้องฟื้นเชื่อมั่นดึงท่องเที่ยวกลับ

เหตุน้ำมันรั่วทะเลระยองของ บมจ.SPRC เมื่อ 25 ม.ค.2565 เริ่มคลี่คลายเป็นลำดับ เมื่อทีมเก็บกู้คราบน้ำมันจากหาดแม่รำพึง และในทะเล ดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์

 

โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจวัดสารตกค้างในทะเล ชายหาด ปะการัง จนถึงอาหารทะเลในพื้นที่ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เปิดให้ท่องเที่ยวได้ และจะเฝ้าตรวจสอบต่อเนื่อง

นํ้ามันรั่ว‘ระยอง’ เศรษฐกิจสูญพันล้าน จี้ตั้งทีมกู้ภัยจังหวัด

การตรวจสอบและเก็บต้วอย่างน้ำทะเลระยองตรวจหาสารปนเปื้อนจากเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล

ด้านคดีความกรมเจ้าท่าและกรมควบคุมมลพิษ เข้าแจ้งความตำรวจ เพื่อเอาผิดบริษัท ฐานก่อมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม และสร้างผลกระทบประชาชน แต่ในพื้นที่ยังกังวลผลกระทบระยะยาว ส่วนการเยียวยามีผู้มาขึ้นบัญชีแล้วกว่า 700 ราย

 

นายพิธพร สมะลาภา ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าน้ำมันรั่วลงทะเลจำนวนเท่าไหร่ และเสียหายเพียงใด เพราะผู้ได้รับผลกระทบทยอยมาขึ้นบัญชีแจ้งขอรับการเยียวยา ซึ่งเดิมมีหลายจุด ทางจังหวัดเพิ่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการเยียวยา มีตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วม

นายพิธพร สมะลาภา ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง

นํ้ามันรั่ว‘ระยอง’ เศรษฐกิจสูญพันล้าน จี้ตั้งทีมกู้ภัยจังหวัด

จะได้รวมศูนย์ให้เกิดความชัดเจน การเยียวยาของบริษัทต้นเหตุ ที่มีประกันภัยนับพันล้านบาทอยู่แล้ว โดยครั้งนี้ควรต้องสั้น กระชับ และเร็ว เพราะคนเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะกลุ่มรายได้วันต่อวัน ซึ่งได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านี้แล้ว

 ที่สำคัญ รัฐบาลต้องดูแลชาวระยองให้ดีกว่านี้ เพราะเป็นจังหวัดที่สร้าง GDP ให้ประเทศสูงเป็นลำดับต้น ๆ เป็นพื้นที่ที่รับทั้งอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มลพิษก็มากกว่าที่อื่น แต่ไม่มีสิทธิพิเศษใด ๆ เลย ต้องให้แต้มต่อคนระยองซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นบ้าง ระยองควรมีหน่วยป้องกันหรือบรรเทาอุบัติภัยลักษณะนี้เป็นของตนเอง เพื่อให้คล่องตัว รวดเร็ว มีการซ้อมปฏิบัติ ให้พร้อมเข้าระงับเหตุได้ทันทีโดยไม่ล่าช้า จะคุมความเสียหายได้ดีกว่านี้

นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง ประชุมหารือผู้บริหาร-ตัวแทนกลุ่มองค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ในระยอง จากเหตุน้ำมันรั่ว

ขณะที่ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ระยอง กล่าวว่า จะเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มพูดคุยหารือ ทบทวนมาตรการการเยียวยาให้เป็นที่พอใจ หากยื่นเรื่องศูนย์ดำรงธรรมแล้วยังไม่พอใจ ทาง อบจ. ก็พร้อมเป็นตัวกลาง ช่วยเจรจาบริษัทเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้ได้รับความเป็นธรรมที่สุด ส่วนการฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว อบจ. ระยอง มีแผนจัดงานอีเวนต์เร็วๆ นี้ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่

 

ด้านนางสุวรรณา โดตี้ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระยอง กล่าวว่า ผลกระทบจากน้ำมันรั่วครั้งนี้ โรงแรมที่พักระยองถูกบอกเลิกบุ๊กกิ้งทันที 70 % และช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ก็หายไปด้วย เพราะยังไม่มั่นใจ ทั้งที่เริ่มมาตรการเราเที่ยวด้วยกันและหลังตรุษจีน ที่ควรจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ให้รีบเยียวยาเร็วที่สุดและมากกว่าครั้งก่อน

 

ส่วนการฟื้นฟูในระยะยาวบริษัทควรร่วมประชาสัมพันธ์ทำอีเวนต์ดึงการท่องเที่ยว ในส่วนการการตรวจสอบนั้น อยากให้ภาคเอกชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทฯด้วย

นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง

นายธนู ทิพย์มณี รองประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กแหลมเทียน กล่าวว่า ชาวประมงหากินลำบากอยู่แล้ว ต้องมาได้รับผลกระทบคราบน้ำมันรั่วไหลซ้ำเติมอีก ต้องสูญเสียรายได้นับหมื่นบาทต่อเดือน ทางกลุ่มได้มีการปรึกษากลุ่มประมงมีอยู่ประมาณ 40 กลุ่ม อยากให้บริษัทฯ เยียวยาเบื้องต้นใช้เกณฑ์การเยียวยาปี 2556 คือ วันละ 3,000 บาท

 

ทั้งนี้บริษัทฯ ต้องเข้ามาคุยกับกลุ่มประมงโดยตรง เพื่อจะได้พูดคุยการเยียวยาจะฟื้นฟูทะเลอย่างไรด้วย เพื่อให้สัตว์น้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์สำหรับทุกคนต่อไป ส่วนการทำประมงขณะนี้ได้ขอให้งดวางอวนจับสัตว์น้ำในช่วงนี้ ให้การกู้คราบน้ำมันเสร็จสิ้นเสียก่อน.
 

ด้านนายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า น้ำมันรั่วครั้งนี้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และการสูญเสียโอกาสของคนในพื้นที่หลักพันล้านบาท คาดจะเสียหายน้อยกว่าน้ำมันรั่วปี 2556

นํ้ามันรั่ว‘ระยอง’ เศรษฐกิจสูญพันล้าน จี้ตั้งทีมกู้ภัยจังหวัด

เนื่องจากครั้งนี้สามารถคุมให้อยู่ในวงจำกัด เก็บกู้เสร็จในหนึ่งสัปดาห์ และปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลแม้ยังไม่รู้ตัวเลขจริง แต่คาดว่าน้อยกว่า และครั้งนี้เกิดในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ยังไม่คึกคักมาก ขณะที่ครั้งก่อนเศรษฐกิจกำลังบูมเต็มที่
 

“แต่ก็มีประชาชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติคงไม่เร็ว เพราะคนมีทางเลือกถ้ายังไม่มั่นใจเขาก็ยังไม่มา”
  ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาร้องเรียนขอรับการเยียวยา

สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินจากนี้  คือ บริษัทฯต้นเหตุต้องเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเร่งด่วน รวมทั้งเร่งขจัดคราบน้ำมันที่ฝั่งตัวอยู่ในดิน ทราย และในทะเลให้หมด เพื่อไม่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และออกมาตรการกำกับดูแลที่ดีกว่าในปัจจุบัน
 

ด้านคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร นัดประชุม 10 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล โดยเชิญผู้ชี้แจงได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน, อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และกรรมการผู้จัดการ บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง
นํ้ามันรั่ว‘ระยอง’ เศรษฐกิจสูญพันล้าน จี้ตั้งทีมกู้ภัยจังหวัด

ประเด็นสำคัญครั้งนี้ คาดจะมีการสอบถามถึงสาเหตุของการรั่วไหลของน้ำมัน ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล จุดถ่ายโอนน้ำมันเป็นไปตามตามสากลหรือไม่ มีแผนป้องกันระยะสั้น กลาง ยาว อย่างไร และหน่วยงานที่กำกับดูแลจะรับผิดชอบจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไร รวมถึงการรับฟังความเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับหลักสากลต่อไป

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,755 วันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565