รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) แห่งใหม่ตั้งอยู่ใกล้ประตู 1 ตรงข้ามลานพอก ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดอุบลราชธานี
โดยสถานีชาร์จ EV นี้ ใช้เครื่องชาร์จแบบคอมโบ AC/DC เป็นสถานีชาร์จความจุขนาดใหญ่ ได้มาตรฐานทั้งของยุโรปและญี่ปุ่น หน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว และรองรับการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน “EV Station” สามารถค้นหาและนำทางไปยังสถานีชาร์จ จองเวลาชาร์จล่วงหน้า เปิด - ปิดหัวชาร์จด้วยตนเอง ชำระเงินออนไลน์ และตรวจสอบประวัติการใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
สำหรับประเภทการชาร์จ มีหัวชาร์จ 3 รูปแบบ แบบแรก คือ หัวชาร์จสำหรับกระแสสลับ (AC) คล้ายตู้ชาร์จติดผนังติดตั้งที่บ้านหรือตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งระยะเวลาชาร์จนอกจากจะขึ้นอยู่กับกำลังไฟของเครื่องชาร์จแล้ว ยังขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ และสเปกของรถ การชาร์จผ่านหัวชาร์จนี้จะรวดเร็วกว่าการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง
แบบที่สอง หัวชาร์จสำหรับกระแสตรง (CHAdeMO เป็นคำย่อจากคำว่า Charge de Move หมายถึง ชาร์จไฟแล้วขับต่อไป) แบบชาร์จเร็ว Quick Charger การชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้า กระแสตรง (DC Charging) สามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จาก 0% - 80% ได้ในเวลาประมาณ 40 - 60 นาที (ขึ้นอยู่กับความจุพลังงานแบตเตอรี่ กิโลวัตต์ - ชั่วโมง) เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน
แบบที่สาม คือ หัวชาร์จสำหรับไฟฟ้ากระแสตรง (CCS: Combined Charging System) มีกำลังสูง เป็นการชาร์จแบบ DC ที่ได้รับความนิยมเป็นมาตรฐานทั่วไป รองรับได้ทั้งการชาร์จแบบกระแสสลับและกระแสตรงในหนึ่งเดียว โดยด้านบนสุดจะเป็นปลั๊กสำหรับไฟฟ้ากระแสสลับ ส่วนด้านล่างจะเป็นปลั๊กกระแสตรง ซึ่งใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทยที่เป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
การติดตั้งสถานีชาร์จ EV ดังกล่าว เป็นไปตามแนวคิดในการร่วมพัฒนาพื้นที่ Ubon Smart City โดยพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างคุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม มุ่งหวังให้นักศึกษาได้เรียนรู้และคุ้นเคยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือ กฟภ. ในการดำเนินการ พร้อมเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้
ปี 2564 กฟภ.เปิดบริการสถานีชาร์จ EV แล้ว 73 แห่งทั่วประเทศ โดยเปิดในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกมากที่สุด 24 สถานี ภาคใต้ 17 สถานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ภาคละ 16 สถานี โดยส่วนใหญ่เป็นจับมือกับบางจากเปิดสถานีชาร์จในปั๊ม และสำนักงานสาขา กฟภ. ในพื้นที่ต่างๆ เริ่มต้นปีใหม่ 2565 กฟภ.ขยายจุดบริการสถานีชาร์จแบตเตอรีอีวีที่ม.ราชภัฎอุบลราชธานี เป็นแห่งที่ 74 ดังกล่าว
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,755 วันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565