ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐคาดหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันไทยก้าวเข้า Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากจะช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเพิ่มการจ้างงาน และเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก โดย 2ใน 4 องค์ประกอบสำคัญที่มีศักยภาพในการเป็น Medical Hub ของไทย ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางบริหารทางการแพทย์ ( Medical Service Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ(Product Hub) ที่เหลือได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) และศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)
นางสาวสุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ
“ปัจจุบันส่วนแบ่งในตลาดโลกของ 3 อุตสาหกรรมการแพทย์สำคัญของไทยยังไม่มากนัก จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก หากสามารถยกระดับให้ได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 2027 นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดการการนำเข้ายาและเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศด้วย ที่สำคัญจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของรัฐ และก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี Key Success สำคัญ คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการลงทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ ควบคู่กับการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทรัพยากร และเงินลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนอย่างบูรณาการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง Ecosystem”
นางสาวสุจิตรา อันโน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเมดิคอลฮับของไทยเป็นอันดับ 5ของโลกโดยประเมินจากเรื่องการรักษาพยาบาล ,โครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวพอใจใช้บริการเชิงการแพทย์ของไทย แต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว แต่แนวโน้มอีก 5-10ปีข้างหน้าคาดว่าไทยจะสามารถยกระดับเป็นเมดิคอลฮับได้ เพราะไทยมีความพร้อมทั้งเงินลงทุนพร้อมขยายตัวรองรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
ทั้งนี้ ถ้าในปีหน้า (ปี2566) ทางการไม่ยกระดับควบคุมเข้มข้น เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสะดวกกว่านี้ คาดว่ามูลค่าตลาดเมดิคอลฮับจะกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิดเพราะความต้องการใช้บริการจากต่างประเทศยังมีอยู่ ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านเดินทางมาใช้บริการเชิงการแพทย์ทั้งศัลยกรรมและทันตกรรม เช่น จีน เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของค่ารักษาพยาบาลของไทยราคาจะถูกกว่าในสหรัฐประมาณ 50-90%