นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากการที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 ปริมาณฝนรวมประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติ และคาดว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคมจะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ให้แก่ผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และทันต่อเหตุการณ์
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง จึงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้งจังหวัดระนอง พ.ศ. 2565 ขึ้น ณ ห้องประชุมพลับพลึงธาร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดระนอง โดยมีคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ และขอให้อำเภอทุกอำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ ดังนี้
จัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้ระบบบูรณาการในระดับอำเภอ/ท้องถิ่น วางแผนบริหารจัดการน้ำ ในการกำหนดแนวทางการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ทบทวนและจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของอำเภอ/ท้องถิ่น ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่
ให้สำรวจพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ที่เคยเกิดปัญหากรณีขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นประจำ ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ ที่ในห้วงฤดูฝนมีปริมาณฝนตกน้อย จนไม่สามารถเก็บกักน้ำในห้วงที่ผ่านมาได้ การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/2565 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดมาตรการรองรับในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะกรณีพืชสวนที่เป็นไม้ยืนต้น และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่การเกษตร
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวต่อว่า ให้เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยของหน่วยงานพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเป็นชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ฝ่ายปกครองร่วมกับฝ่ายทหาร ตำรวจในพื้นที่ สอดส่องทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยเฉพาะกรณีการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
ระมัดระวังอย่าให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากกรณีการแย่งชิงน้ำ และให้สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ มีความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการใช้น้ำอย่างประหยัด ร่วมกันซ่อมสร้าง บำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดหาภาชนะกักเก็บน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภคอย่างประหยัดและถูกวิธี
รวมทั้งการแจ้งเตือนสภาวะอากาศให้ราษฎรระมัดระวังสุขภาพจากโรคภัยในฤดูแล้ง การป้องกันระงับอัคคีภัย ไฟป่า การให้ความรู้ คำแนะนำแก่ราษฎรในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง เป็นต้น