อัพเดตความคืบหน้า กทพ.สร้างทางด่วนขั้น 3 วงเงิน 1.4 หมื่นล้าน ถึงไหนแล้ว

12 ก.พ. 2565 | 01:37 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 08:43 น.

กทพ.ลุยสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ลุ้นสภาพัฒน์ไฟเขียวภายในพ.ค.นี้ เล็งปรับแผนใหม่ แยกประมูลฐานรากสายสีน้ำตาล หวั่นติดหล่มจ่ายชดเชย เร่งศึกษาสร้าง N1 หาข้อสรุปสร้าง

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก โดยระบุว่า ขณะนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลประกอบการอนุมัติโครงการลงทุนดังกล่าวในส่วนของช่วง N2 จากแยกเกษตร – นวมินทร์ เชื่อมไปยังวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 1.4 หมื่นล้านบาทเบื้องต้นช่วง N2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ ในเรื่องของผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจและการเงิน และขอทราบความชัดเจนในการก่อสร้างช่วง N1  ว่าจะใช้แนวเส้นทางอย่างไร รวมถึงการลดผลกระทบการจราจรติดขัดเมื่อมีการก่อสร้างโครงการนี้แล้วเสร็จ คาดว่าสภาพัฒน์จะพิจารณาอนุมัติโครงการฯช่วง N2 ภายในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนผลักดันเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

 

 

ที่ผ่านมาการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 5/64 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ กทพ.เดินหน้าลงทุนในโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 โดยให้ผลักดันการก่อสร้างช่วง N2 ที่มีความพร้อมก่อน เนื่องจากช่วง N1 ที่จะตัดผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังติดปัญหาการเจรจาแนวเส้นทาง ดังนั้นที่ประชุมจึงมีความเห็นให้เริ่มดำเนินการช่วงที่มีความพร้อม เพื่อให้โครงการสามารถเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายในปี 2567 – 2568 เพื่อลดปัญหาการเจรจาติดขัด 


 

ทั้งนี้การก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 หากได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว สามารถดำเนินการในขั้นตอนประกวดราคาได้ทันทีในปีนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าว กทพ.ศึกษารายละเอียดและพื้นที่ก่อสร้างมีความพร้อมอยู่แล้ว ขณะนี้ กทพ.ยังได้หารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงกรณีการสร้างฐานรากรถไฟฟ้าในแนวเส้นทางเดียวกันกับโครงการทางด่วนช่วง N2 ซึ่งเบื้องต้นผลการหารือ กทพ.ไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนของการก่อสร้างฐานรากให้รถไฟฟ้าแล้ว 

 

 

 

ส่วนสาเหตุของการปรับแผนไม่ประกวดราคาก่อสร้างฐานรากระบบรถไฟฟ้าพร้อมกับโครงการทางด่วนช่วง N2 เนื่องจากจากการศึกษาข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณ พบว่าอาจติดปัญหาการจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ทาง รฟม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) ดังนั้นหาก กทพ.รับหน้าที่ประมูลสร้างฐานรากรถไฟฟ้าพร้อมกับทางด่วนไปก่อน อาจติดปัญหาการจ่ายเงินชดเชยจากทางเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า เพื่อมาจ่ายให้กับเอกชนที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการทางด่วน 
 

“ปัจจุบันได้มีการหารือกับ รฟม.ไปบ้างแล้ว ว่าอาจจะติดปัญหาเรื่องการจ่ายเงินชดเชยเพราะการร่วมทุนในลักษณะพีพีพีมีข้อจำกัดเรื่องการจ่ายเงินระหว่างเอกชน ทำให้แนวทางตอนนี้ได้หารือกับว่า กทพ.จะเส้นพื้นที่ก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าไว้ก่อน เพราะตามรูปแบบก่อสร้างฐานรากของทางด่วนจะคร่อมฐานรากรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้นสามารถเว้นพื้นที่ก่อสร้างไว้ให้ได้ ขณะนี้ รฟม.ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร”

 


ทั้งนี้โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วง N2 ถือเป็นโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดในการลงทุนโครงข่ายทางด่วนที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยที่ผ่านมาอาจติดปัญหาของการเจรจาแนวเส้นทางช่วง N1 เพราะมองว่าการลงทุนหากสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นไปพร้อมกันจะทำให้โครงข่ายทางด่วนสมบูรณ์ แต่เนื่องจากปัจจุบันช่วง N1 ยังไม่ได้ข้อสรุป การผลักดัน N2 ก่อนก็เป็นทางเลือกที่จะเพิ่มโครงข่ายทางด่วน ลดปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี 

 

 

สำหรับความคืบหน้าทางด่วน N1 กระทรวงคมนาคมได้มอบให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปเจรจากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อดีและข้อเสีย รูปแบบการก่อสร้าง โดยกระทรวงคมนาคมจะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอทางเลือกก่อสร้างเป็นอุโมงค์คร่อมอุโมงค์แยกเกษตร พบว่าเป็นทางเลือกที่จะทำให้มีค่าใช้จ่ายการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หากเลือกแนวทางนี้ก็จะกระทบต่อค่าผ่านทางที่ต้องจัดเก็บแพงขึ้น