ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของประชาชนที่เห็นต่างได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะ ขณะที่สหรัฐฯได้ออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ มีหลายบริษัท จากหลายประเทศถอนการลงทุนจากเมียนมาต่อเนื่อง
ต่อภาพรวมการค้า-การลงทุนของไทย-เมียนมาในรอบ 1 ปีหลังรัฐประหารเป็นอย่างไร และทิศทางอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
นายกริช ฉายภาพว่า ภาพรวมของผลกระทบเริ่มตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว ซึ่งในช่วงแรกนั้น การเดินทางไม่สามารถที่จะกระทำได้ ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ทางการเริ่มเข้มงวดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสถานการณ์การปราบปรามผู้ประท้วง ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินในประเทศเมียนมาที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น การเปิดทำการของธนาคารในเมียนมา และการขาดแคลนเงินสดในท้องตลาด ทำให้ส่งผลกระทบถึงหน่วยเศรษฐกิจทุกภาคส่วน
จำกัดถอนเงินกระทบวงกว้าง
อีกทั้งการจำกัดการถอนเงินจากธนาคาร และเงินตราต่างประเทศที่ขาดหายไป ทำให้การค้าในเมียนมาได้รับผลกระทบที่รุนแรงมาก จะมีเพียงสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสินค้าที่ไม่มีผลิตภายในประเทศเท่านั้นที่สามารถค้าขายได้ สำหรับประเทศไทยที่มีชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเมียนมายาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ขณะที่ชายแดนจีนที่ติดกับเมียนมาได้ปิดตัวลง ทำให้ไทยมีความได้เปรียบอย่างมาก สังเกตได้จากตัวเลขการค้าชายแดนมีอัตราการเติบโตสวนกระแสอย่างชัดเจน (การค้าชายแดนไทย-เมียนมาปี 2564 มีมูลค่ารวม 20,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปีก่อน)
“ด้านการลงทุนของไทยในเมียนมาหลังรัฐประหาร การลงทุนทุกประเภท และทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน มีการหดตัวลงอย่างมาก จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง ทั้งนี้ธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนและค้าขายกับเมียนมาลดลงไปมากน้อยเพียงใดนั้นไม่สามารถบอกตัวเลขที่แท้จริงได้ เพราะก่อนรัฐประหารมีนักลงทุนรายเล็กที่เข้าไป โดยไม่ได้จดแจ้งจำนวนมาก”
รายใหญ่ลุยต่อ-รายย่อยถอย
สำหรับนักลงทุนไทยรายใหญ่ในเมียนมา อาทิ CP, BJC, SCG, PTTEP, PTTGC, TCP, BBL, SCB KBANK, KTB, EXIMBANK, TOA เป็นต้น โดยปีล่าสุดไทยเป็นนักลงทุนสะสมในเมียนมาอยู่ในลำดับที่ 3 รองจาก สิงคโปร์ และจีน ซึ่ง 1 ปีหลังรัฐประหาร มีนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยถอนตัวจากเมียนมาจำนวนมาก โดยนักลงทุนไทยที่ถอนตัวส่วนใหญ่เป็นรายย่อย
อย่างไรก็ดีจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรในปี 2564 การค้าไทย-เมียนมาในภาพรวม (ส่งออก+นำเข้า) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 9.9% (กราฟิกประกอบ) เรื่องนี้ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ระบุว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะช่วงที่ผ่านมา ชายแดนจีน-เมียนมา ปิดตัวลงจากปัญหาโรคระบาดโควิด
ค้าชายแดนปีเสือส่อวูบ
ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวอีกว่า การลงทุนของไทยในเมียนมาปี 2565 อาจจะมีไม่มาก นอกจากหากดีลการซื้อหุ้นของ Total และ Chevron กับ PTTEP ในเมียนมาสำเร็จ ก็จะทำให้ตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการค้า ปัจจุบันชายแดนเมียนมา-จีนได้เริ่มเปิดใหม่อีกครั้งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คาดจะส่งผลกระทบต่อตัวเลขการค้าชายแดนไทย-เมียนมาที่ต้องลดลง
“คาดการเลือกตั้งในเมียนมาอาจเกิดขึ้นในปีหน้า แต่ทุกอย่างในเมียนมาไม่มีอะไรแน่นอน หากยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ทุกอย่างย่อมเปลี่ยน แปลงได้ การไม่ยอมรับรัฐบาลเมียนมาของประชาชน หากมีการก่อกวนความสงบอยู่อย่างต่อเนื่อง คาดรัฐบาลทหารก็จะไม่ยอมลดราวาศอกอย่างแน่นอน ดังนั้นต้องรอดูท่าทีของทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด รวมถึงการบริหารจัดการของ AEC ภายใต้การนำของท่านสมเด็จฮุนเซนด้วยว่ารัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ท่านปัก สุทน ในฐานะทูตพิเศษของ AEC จะมีผลตอบรับอย่างไรด้วย”
ทั้งนี้แนะนำนักธุรกิจและผู้ประกอบการไทย ควรต้องติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด และยังไม่ควรถอนตัวในระยะนี้ เพราะจะทำให้เงินที่ลงทุนไปแล้วสูญเปล่าโดยใช่เหตุ ดังนั้นให้อดทนรอดูการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้ได้ ส่วนผู้ที่จะเข้าไปลงทุนใหม่ ควรคำนึงถึงปัจจัยทาง การเมืองให้มาก ๆ
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,757 วันที่ 13 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565