นายธารา ปิตุเตชะ รองประธานกรรมาธิการการพลังงาน (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง เหตุน้ำมันรั่วซ้ำกลางทะเลที่ระยอง ว่า แม้หน่วยงานรัฐ จังหวัดระยอง อบจ. อปท.ท้องถิ่น ได้เก็บกู้คราบน้ำมัน และฟื้นฟูชายหาด และหน่วยงานรัฐจะยืนยันผลกระทบไม่มากนัก แต่จากเหตุน้ำมันรั่วซ้ำอีก มีการตั้งสังเกตจากชาวระยองตามมาว่า มีการปกปิดความจริงอะไรไว้หรือไม่ ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าจะไปเชื่อมโยงถึงการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ชุมชน และผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ กมธ.การพลังงาน ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 อาทิ กระทรวงคมนาคม, กรมธุรกิจพลังงาน, กรมควบคุมมลพิษ, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ข้อสังเกตที่ทางกรรมาธิการฯ ต้องการทราบคือ ปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลสู่ท้องทะเลครั้งนี้มีจำนวนเท่าไรกันแน่
เรื่องดังกล่าวจะส่งผลไปถึงการประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศและการจ่ายค่าเยียวยาทั้งระบบที่ผู้ก่อมลพิษ SPRC จะต้องรับผิดชอบมีอย่างไรบ้าง เพราะกระแสข่าวที่ออกครั้งแรก ประเมินน้ำมันรั่ว 4 แสนลิตร และลดมาเหลือ 1.6 แสนลิตร หลังจากบริษัทส่งทีมนักประดาน้ำลงไปสำรวจน้ำมันรั่วเหลือ 5 หมื่นลิตร และมาเกิดรั่วซ้ำอีก 5,000 ลิตร
“การรั่วไหลของน้ำมันครั้งนี้ จังหวัดระยองได้รับกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหนัก นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดต่างยกเลิกหายหมด ทั้งหาดแม่รำพึง สวนสน เกาะเสม็ด ร้านค้า กลุ่มประมงพื้นบ้านขายของไม่ได้ ชาวประมงย่ำแย่ หาปลาได้ก็ไม่มีคนซื้อ ดังนั้นมาตรการที่ต้องเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเบื้องต้นในวันนี้ คือการเยียวยาและชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ”
ดังนั้น SPRC ต้องเร่งเยียวยาเป็นการด่วน และให้ตรงจุด พร้อมกันนี้ต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นร่วมกับทางจังหวัดโดยเร็ว อย่ารอให้เหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้
ในเบื้องต้น SPRC ควรจัดสรรงบประมาณออกมาชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อน โดยตั้งกองทุนร่วมกับทางจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดระยอง อบจ. และเทศบาล ทั้งร้านค้า ชาวประมง และประชาชนอื่น ๆ ที่กำลังเดือดอย่างมากในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า บุคคลเหล่านี้คือผู้เดือดร้อนและได้รับผลกระทบจริง เพราะจากการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนรับการชดเชย 6,000-7,000 ราย
ขณะเดียวกันการเยียวยาผู้ได้รับกระทบในครั้งนี้ ให้ภาครัฐ จังหวัด ทำการสอบสวนถึงสาเหตุ และการดำเนินการตามมาตรการในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) อย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรเชื่อแต่ภาคเอกชนเท่านั้น และควรรื้อระบบความปลอดภัยของการป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันลงทะเลของทุกโครงการที่มีการรับน้ำมันกลางทะเลทั้งหมด เนื่องจากเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันดิบครั้งนี้ เป็นอุบัติภัยร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว อาชีพประมง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และพ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเล รวมทั้งเร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนในพื้นที่ด้วย
“จากการตั้งข้อสังเกต และการติดตามสถานการณ์น้ำมันรั่วครั้งล่าสุด หลายฝ่ายเป็นกังวลจากมีการปกปิดข้อมูลของหน่วยงานรัฐ โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้ส่งทีมงานเข้าไปในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์แต่ถูกการกำกับ และควบคุมการรายงานข่าว พร้อมภาพถ่ายดาวเทียม ถูกปล่อยมาให้สื่อมวลชนในวงจำกัด ประเด็นดังกล่าว หน่วยงานรัฐ และบริษัท ต้องเปิดข้อมูลปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันอย่างตรงไปตรงมา เพราะความเสียหายและผลกระทบจะเกิดขึ้นกับลูกหลานคนระยองในอนาคต” นายธารา กล่าว