ลูกหนี้เฮ! รัฐเล็งออกแพ็กเกจแก้หนี้ รอบใหม่ ลดภาระเงินผ่อน

20 ก.พ. 2565 | 05:24 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2565 | 12:32 น.

สศช. เตรียมหารือคลัง และธปท. เล็งออกแพ็กเกจแก้หนี้ ครั้งใหม่เพิ่มเติมจากมาตรการเดิม ช่วยลดภาระลูกหนี้เงินผ่อนคลายความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อเข้ามาช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้สถาบันการเงิน

 

โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระการผ่อนชำระ เพื่อให้ลูกหนี้นำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นกับการดำรงชีพในระยะสั้นก่อน


“คงต้องมีมาตรการออกมาช่วยให้ลูกหนี้ที่เจอปัญหาโควิด รายได้ลดลงช่วยได้แบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระ ส่วนจะมีมาตรการขึ้นมาแบบไหน คงต้องคุยกับทางคลัง และธปท. ว่าจะทำอย่างไร เพราะที่ผ่านมาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้ช่วยไปเยอะแล้ว อาจถึงจุดหนึ่งที่ต้องมาดูมาตรการใหม่อีกสักตัวมาช่วยเรื่องนี้” นายดนุชา กล่าว

ทั้งนี้ยอมรับว่า ในการดำเนินการดังกล่าว คงต้องเริ่มหารือถึงหลักเกณฑ์เอาไว้รองรับสถานการณ์ก่อน ซึ่งถามว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นไหม ณ เวลานี้ถือว่า มีความจำเป็น เพราะปัจจุบันมีคนกลุ่มหนึ่งไปต่อลำบาก ถ้าหากไม่มีมาตรการออกมาช่วย ก็ทำให้เกิดปัญหา และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้

 

อย่างไรก็ตามในแนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้น เลขาธิการ สศช. มองว่า คุณสมบัติของผุ้เข้าร่วมโครงการคงต้องคัด คือเป็นลูกหนี้ที่ผ่อนชะระดีมาตลอด หรือกลุ่มที่เคยปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วแต่ไปต่อไม่ไหว อาจต้องมีมาตรการมาช่วยให้คนกลุ่มนี้ยังสามารถยืนต่อไปได้

 

โดยอาจไม่ใช่มาตรการพักชำระหนี้เหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ เพราะหากทำรูปแบบเดิมอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้ลูกหนี้ดีไม่ชำระหนี้ตามปกติ (Moral Hazard) ขึ้น

นายดนุชา กล่าวว่า เหตุผลของการพิจารณาออกมาตรการมาช่วยเหลือ เพราะว่าที่ผ่านมา สศช. พบข้อมูลที่น่าเป็นกังวลเกี่ยวกับสถานะการณ์หนี้ครัวเรือน แม้ว่าในเชิงมูลค่าเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะเพิ่มสูงขึ้นไม่มาก แต่หากมองคุณภาพของหนี้แล้ว ตอนนี้เริ่มเห็นว่ามีปัญหา โดยเฉพาะหนี้เพื่ออุปโภคและบริโภคของภาคประชาชน


“มาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ ที่เป็นบุคคล ครัวเรือน หรือภาคธุรกิจ ตรงนี้ต้องเช็คตัวเลขว่าทำไปถึงไหน และเชื่อว่า จะมีบางส่วนที่ยังคงประสบปัญหาอยู่ โดยการแก้หนี้ครัวเรือนไม่ใช่แก้เบ็ดเสร็จในปีเดียว เพราะด้วยภาวะวิกฤตโควิดคงต้องใช้เวลา และต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเข้าไปช่วย เพื่อให้เขายังพอมีกำลังการใช้จ่ายอยู่ได้ มีความมั่นคง มีหลายเคสยังผ่อนบ้าน แต่ตัวเองประสบปัญหา ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือเร่งด่วน” เลขาฯ สศช. กล่าว