นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโควิดผลผลิตพืชไร่และพืชเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบด้านการส่งออกเช่นกันเนื่องจากค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเพิ่มขึ้นถึง 4-5 เท่า เรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ก็ขาดแคลน
เมื่อการส่งออกไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อชาวนาเช่นกัน เพราะไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาร จำนวน 50% ของผลผลิตในประเทศ แม้จะมีปัญหาบ้าง แต่รายได้ก็ไม่รับผลกระทบมากจนเกินไป เพราะว่ามีการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากรัฐบาลเข้าช่วยเหลือ
สำหรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่ได้ดำเนินการมากว่า 3 ปี จากที่ชาวนาเผชิญหน้ากับภัยแล้ง และบางพื้นที่เจออุทกภัยหรือน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหายและทำนาข้าวต่อไปไม่ได้ แม้ว่าจะได้แต่ผลผลิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่โชคดีที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีโครงการประกันรายได้ มีราคาที่ชัดเจน เมื่อข้าวได้ราคาต่ำกว่าทุน รัฐบาลก็ช่วยชดเชยรายได้ ถึงมือชาวนาโดยตรง ทำให้ชาวนาอยู่รอดได้ และมีกำไร ซึ่งเป็นผลดีต่อชาวนารายย่อยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ และเป็นชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งชาวนาทั่วประเทศก็พอใจ เพราะได้รับอานิสงส์จากโครงการ เพราะถ้าไม่มีโครงการ ราคาข้าวก็ลดลงเหลือก.ก.ละ 5-6 บาท ชาวนาก็อยู่ไม่ได้
ดังนั้นชาวนาก็อยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้อย่าง เพราะเงินจากโครงการไม่มีการทุจริต โอนถึงมือเกษตรกรโดยตรง สมมุติว่าข้าวที่มีความชื้น 15% ราคาจะได้ 8 พันบาทต่อตัน ส่วนข้าวความชื้นสูง 25-30% ราคาก็ลดลงเหลือ 6 พันบาทต่อตัน ซึ่งรัฐบาลก็เข้าช่วยชดเชยให้ตามสัดส่วน เป็นอานิสงส์ที่ชาวนาทุกคนเห็นดีด้วย โครงการประกันรายได้เกษตรกร
ส่วนการพัฒนาคุณภาพของข้าว ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทย ยังสร้างผลผลิตได้สูง แต่ขณะเดียวกัน ต้นทุนของการผลิตในประเทศก็สูงเช่นเดียวกัน ทั้งราคาน้ำมันที่สูง ราคาปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชที่ราคาแพง ถือเป็นต้นทุนหนักของชาวนาไทย ได้คุยกับกรมการค้าภายใน และกรมการข้าว ซึ่งทุกหน่วยงานได้รับปากแล้วว่า จะจัดการให้ ทั้งราคาปุ๋ยและยา รวมถึงราคาน้ำมันถูกลง ถ้าเป็นไปได้ให้ชาวนาสามารถควบคุมต้นทุนได้ในระดับราคา 4.5-5 พันบาทต่อไร่ และผลิตได้ผลผลิตสูง ชาวนาก็อยู่ได้
“อยากให้ภาครัฐดำเนินการต่อไปในระยะยาว เพราะว่าชาวนาชอบโครงการนี้มาก ขณะเดียวกันเพื่อปรับในทันสถานการณ์ ได้เริ่มการจัดโซนพื้นที่เพาะปลูกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ภาคอีสานจะเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ส่วนของสมาคมดูแลพื้นที่ภาคกลาง อย่าง กำแพงเพชร ชัยนาท จะทำเป็นข้าวพื้นนุ่ม คือ กข79 และ กข81
ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศ และส่งออก ส่วนอุตรดิตถ์ ก็เป็นข้าวพื้นแข็ง หลังจากนี้จะไม่เป็นการทำนาแบบสะเปะสะปะอีกต่อไปและการทำหน้าที่ประสานงานกับโรงสีในพื้นที่ และประสานงานกับส่งออก ว่าต้องการข้าวชนิดไหนที่เป็นความต้องการของต่างประเทศ และสมาชิกของสมาคมก็จะบริหารจัดการตามความต้องการ ซึ่งข้าวบางส่วนก็ไม่ต้องพึ่งพา โครงการประกันรายได้ อาทิข้าวพื้นนุ่ม กข79 และ กข81 ที่กำแพงเพชร 1.8 หมื่นไร่ ซึ่งเป็นที่ต้องการของโรงสี ที่มีการแย่งกันซื้อ ทำให้ชาวนาส่วนนี้กำหนดราคาข้าวเองได้ ซึ่งทำให้ชาวนาสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง”