นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2565 ว่า เบื้องต้นที่ประชุมกบอ. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีบจ.เอเชีย เอรา วัน หรือ กลุ่มซีพี เป็นเอกชนคู่สัญญา ขณะนี้คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาฯ ได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) อยู่ระหว่างดำเนินการเจรจากับเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ที่ผ่านมาทางกระทรวงคมนาคมให้เอกชนสร้างส่วนทับซ้อนงานโยธาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาโดยไม่เป็นภาระทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเหมาะสมให้กับเอกชน
“ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารจะเริ่มกลับมาแต่ยังห่างจากการประมาณการตามการศึกษาที่ 80,000 คนต่อวัน ทั้งนี้การแก้ไขสัญญาจะให้ความสำคัญกับการปรับระยะเวลาค่าสิทธิ์เป็นสำคัญ โดยเร่งรัดดำเนินการเจรจาในข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนคู่สัญญาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วก่อนดำเนินการ โดยภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมต่อภาคเอกชนบนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนในโครงการฯ ร่วมกัน”
ด้านการส่งมอบพื้นที่โครงการฯช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ปัจจุบัน รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาแล้ว 3,493 ไร่ หรือได้เกือบครบทั้งหมด 100 % แล้ว เหลือพื้นที่ส่งมอบเพียง 20 ไร่ หรือประมาณ 0.57% ที่เจ้าของพื้นที่เดิมยังไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยใหม่ได้ โดยรฟท.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2565
นายคณิศ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าเมืองการบินภาคตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภา ขณะนี้ที่ประชุม กบอ.รับทราบความก้าวหน้าการจัดสิทธิประโยชน์ 10 ปีแรกให้กับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เทียบเท่าสิงคโปร์ ดูไบ และฮ่องกง ซึ่งจะมีการสนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ24 ชั่วโมงเป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรในบางกรณี รวมทั้งจะมีการสนับสนุนด้านการออก VISAและใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 ปี สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก
ทั้งนี้การจัดตั้งบริษัท อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด โดย อีอีซีจะถือหุ้น 100% ให้เป็นหน่วยงานพัฒนา MRO ร่วมกับเอกชน โดยการทำงานจะมีการประสานงานใกล้ชิดกับ UTA ที่พัฒนาสนามบิน ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออกโดยสมบูรณ์