ครม.เคาะลดภาษีบุคคลธรรมดาต่างชาติเหลือ 17%

22 ก.พ. 2565 | 06:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2565 | 13:49 น.

ที่ประชุมครม. เห็นชอบมาตรการภาษีดึงดูดชาวต่างชาติลงทุน ครอบคลุม 4 กลุ่มที่ถือวีซ่าระยะยาว โดยมีทั้งการยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดาที่นำเงินเข้ามาในไทย และคนที่ได้เงินจากจ้างงานในประเทศเก็บภาษีเหลือแค่ 17%

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ....

 

สำหรับสาระสำคัญของมาตรการนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

 

1.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว  3 กลุ่ม

  • ประเภทประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 
  • ประเภทผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 
  • ประเภทผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 

 

สำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย โดยผู้มีเงินได้ต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
 

2.ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตรา 17% ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว ประเภทผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 

 

ตามกฎหมายว่าด้วย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่อธิบดี กรมสรรพากรประกาศกำหนด 

 

ทั้งนี้เมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่า 17% ของเงินได้ ในกรณีที่คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียเท่ากับหรือน้อยกว่า 17% ของเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าว ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 17% ของเงินได้นั้น

ทั้งนี้ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 17% ของเงินได้ไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ต้องนำเงินพึงประเมินไปรวมคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตคืนภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน แบ่งเป็น

  • กรณีที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ไว้แล้วและมีสิทธิเลือก เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 48 (3) และ (4) ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิได้ เมื่อไม่นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน และไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน 
  • กรณีผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด 

 

อย่างไรก็ตามผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิต้องมีคุณสมบัติ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด และกรณีที่มีการใช้สิทธิไปแล้ว และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในปีภาษีใด ให้สิทธิเป็นอันระงับไปในเฉพาะปีภาษีนั้น

 

สำหรับการดำเนินการครั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่า จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า จะมีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านคน 

 

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนี่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งไม่อยู่ในฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย แต่อาจเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 17% ของเงินได้พึงประเมิน โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มีดังนี้

  1. ชาวต่างชาติผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
  2. ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นจากกลุ่มชาวต่างชาติ ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย
  3. การบริโภคและการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
  4. ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น