พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากากรระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ก่อให้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
อีกทั้ง ยังเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ 1 ใน 5 ของอีอีซี รองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี เป็นต้น
ทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนด้านต่างๆ ครอบคลุมทุกมิติ จนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาสู่พื้นที่อีอีซี ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทุกคน
“ตั้งเป้าหมายโครงการดังกล่าวเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำ และเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ ที่สำคัญยังมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่นให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่"
นอกจากนี้ ยังให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมและใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ผลักดันและส่งเสริมผลประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนคนไทยในทุกด้าน
ทำให้อีอีซีและประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักลงทุน นักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่ต้องเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 บนพื้นที่ 1,000 ไร่ มูลค่าการลงทุน ประมาณ 55,400 ล้านบาท
ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน งานถมทะเลและขุดลอกร่องน้ำ ประมาณ 12,900 ล้านบาท
และการลงทุนท่าเรือก๊าซ ประมาณ 35,000 ล้านบาท ส่วนช่วงที่ 2 การลงทุนท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ประมาณ 4,300 ล้านบาท และ 4.คลังสินค้าหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 3,200 ล้านบาท
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า หากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) เสร็จสมบูรณ์ จะรองรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในอนาคต เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับและขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว
รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต คาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2567 และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2569 ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่
สำหรับเป้าหมายยอดขาย/เช่าพื้นที่ลงทุนของ กนอ. ปี 2565 คาดอยู่ที่ 1,800 ไร่ มูลค่าลงทุน 1.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นพื้นที่อีอีซี 1,440 ไร่ มูลค่าการลงทุน 144,000 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของยอดขาย/เช่าทั้งหมดในปีนี้ นอกอีอีซี 360 ไร่ มูลค่าลงทุน 36,000 ล้านบาท
โดย กนอ.จะเน้นการเพิ่มรายได้จากการให้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้วในนิคมฯ ที่ยังเหลืออยู่ และในพื้นที่จัดตั้งใหม่รวมถึงพื้นที่ที่มีการขยายในอีอีซี และพื้นที่อื่นนอกอีอีซี
นายวีริศ กล่าวอีกว่า ล่าสุด กนอ.ได้เริ่มเปิดขายซองประกวดราคาโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) แปลง A มูลค่าลงทุน 4,500 ล้านบาท เช่น ท่าเรือและศูนย์การขนถ่ายสินค้าเหลว แปลง C มูลค่าลงทุน 3,500 ล้านบาท โดยการลงทุนเปิดกว้างสำหรับธุรกิจอื่นๆ และที่เกี่ยวเนื่อง
คาดว่าจะมีภาคเอกชน 5-6 ราย สนใจยื่นซองเข้าเสนอราคาโครงการ ตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปี 2567 และเปิดให้บริการได้ในปี 2569