เร่งติดปีกธุรกิจ รับโอกาสสินทรัพย์ดิจิทัล

02 มี.ค. 2565 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2565 | 15:53 น.

ธุรกิจเร่งสปีดรับโอกาสสินทรัพย์ดิจิทัล “เจมาร์ท”ขยายอีโคซิสเต็ม”เจฟิน คอยน์” กลุ่มบีทีเอส-เคอรี่ ลั่นปีนี้เห็น “เจ เมตาเวิร์ส” สยามพิวรรธน์ เผยกำลังก้าวสู่เว็บ 3.0 ศึกษาดิจิทัลแอคเซส-NFT ขณะที่ “บิตคับ” ระบุธุรกิจแห่พาร์ทเนอร์กว่า 100 ราย มุ่งเว็บ 3.0

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวทีสัมมนา “Virtual Seminar: Digital Asset โอกาสและความเสี่ยง” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ “DIGITAL ASSET พลิกโอกาส...ล้ำอนาคต” ว่าทิศทางธุรกิจของเจมาร์ทมุ่งปักธงในตลาดคอมเมิร์ซและฟินเทค แม้จะเห็นว่ามีความเสี่ยงที่สูงมาก ต้องการเงินสำหรับลงทุน รวมถึงกฏเกณฑ์ภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย”

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ มาจากการวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการทรานส์ฟอร์มบริษัทในเครือ บวกกับสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมภายในและที่ทำกับคู่ค้า ปูทางสร้างการเติบโตด้วยฐานลูกค้าที่มี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้สามารถกำไรได้สูงสุดต่อเนื่องแม้ช่วงวิกฤติโควิด

เร่งติดปีกธุรกิจ รับโอกาสสินทรัพย์ดิจิทัล

นายอดิศักดิ์เผยว่า จากวันแรกที่ไอซีโอมีฐานผู้ใช้งาน JID วอลเล็ต 2 พันราย มาวันนี้เพิ่มขึ้นมาแตะ 7 แสนราย และมี 24 โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ บิสิเนสโมเดลของเจมาร์ทให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับฐานลูกค้า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายจากธุรกรรมผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลเจฟินคอยน์ได้ประมาณ 1,100 ล้านบาท ต่อไปเรากำลังขยายอีโคซิสเต็มไปยังกลุ่มบีทีเอสและเคอรี่

 

สำหรับ เป้าหมายการรุกตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลใน 3-5 ปีจากนี้ เชื่อว่าด้วยสปีดของเทคโนโลยีจะไปได้เร็วกว่าที่คาดหวังเอาไว้ การที่มีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในกลุ่มหวังว่าจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งบริษัทในเครือและประเทศ ในฐานะต้นแบบที่จะทำให้เกิดการผลักดันด้านกฎหมาย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ

นายอริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรม บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ภาพของสยามพิวรรธน์ เป็นผู้นำของพร็อพเพอร์ตี้ ดีวีลอปเปอร์ ดังนั้นในภาพจำของคนเมื่อพูดถึงสยามพิวรรธน์ จะนึกถึง สยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้สร้างประสบการณ์ในโลก 1.0 ซึ่งเป็นโลกแบบดั้งเดิม

 

ปัจุบันกำลังเริ่มเข้าสู่โลก 3.0 แต่โดยในอนาคตอันใกล้จะมุ่งไปสู่ digital asset ภาพที่จะได้เห็นคือไม่เพียงเฉพาะสินค้าจับต้องได้ (physical) เท่านั้นแต่จะเห็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ไปอยู่ในแพลตฟอร์มของสยามพิวรรธน์ในหลายๆรูปแบบ เพราะในวงการนี้สามารถทำอะไรได้มาก เช่นเรื่องของโทเคน คอยน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สยามพิวรรธน์กำลังศึกษา

 

นอกจากนี้สยามพิวรรธน์กำลังศึกษา NFT ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากในเครือหรือเน็ตเวิร์กของสยามพิวรรธน์มีกลุ่มศิลปินที่เห็นโอกาสและอยากเข้ามาอยู่ในโลก 3.0 แต่อาจจะไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอที่จะเท่าทันเกม เพราะฉะนั้นบทบาทของสยามพิวรรธน์และพันธมิตรก็จะเข้ามาช่วยศิลปินให้สามารถเข้าถึงและสร้างโอกาสในโลก 3.0 หรือโลกของ NFT

 

ส่วนนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ภาคธุรกิจในไทยตื่นตัวเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ต้นปีที่มามีองค์กร เข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับบิทคับ ในการนำโซลูชัน เอาบล็อกเชน เข้าไปช่วยดึงศักยภาพของธุรกิจพาร์ทเนอร์ออกมา เพื่อก้าวโลกในเว็บ 3.0 ไม่ต่ำกว่า 100 โครงการครอบคลุมทุกวงการ เริ่มต้นตั้งแต่เวทีนางงาม ประกวดมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งก็มีกองประกวดมิสยูเวิร์สโกลบอล และฟิลิปปินส์ ติดต่อเข้ามา วงการฟุตบอล ที่เข้าไปช่วยสมาคมฟุตบอล ออกเหรียญ NFT ฟุตบอลไทยลีก นอกจากนี้ยังมีวงการอีสปอร์ต เล่นเกมแล้วได้เงิน ออกกำลังกายแล้วได้เงิน รวมถึง ฟังเพลงแล้วได้เงิน และ เลิร์นทูเอิร์นเรียนแล้วได้เงิน

 

 “4 ปี 1 เดือน ที่ผ่านมา เรามี 10 บริษัทเป็นกลุ่ม บริษัทที่เติบโตเร็วสุด เรากำลังวางโครงสร้างที่เป็นดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์ให้กับประเทศไทย ให้บริษัทต่างๆ ให้คนไทยได้เข้ามาใช้ เพื่อทรานฟอร์มตัวเองสู่เว็บ 3.0

 

นายจิรายุส กล่าวต่อไปอีกว่า เป้าหมายของบิทคับ คือ เราต้องการสร้างอินฟราสตักเตอร์ที่ประเทศไม่มีไม่ได้ เราพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ไม่มีอินฟราสตักเจอร์ที่แข็งแรง เราก็เติบโตไม่ได้ เราต้องการเป็นดิจิทัลอินฟราสตักเจอร์กลาง ให้ทุกคนเข้ามาสานต่อออนท็อปธุรกิจบนอินฟราสตักเจอร์กลางของเรา