ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียสั่งปฏิบัติการทางทหาร (24 ก.พ.) กดดันยูเครนเพื่อให้รับปากไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ (NATO) ที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัสเซีย ล่าสุดอยู่ระหว่างการบุกยึดกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน อีกด้านหนึ่งได้ส่งคณะผู้แทนเจรจากับยูเครนเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่ชายแดนของเบลารุส (28 ก.พ.) แต่จบลงโดยไม่มีอะไรคืบหน้า ล่าสุดผู้นำยูเครนยังสร้างความประหลาดใจ โดยได้ลงนามเพื่อขอเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) สร้างความตึงเครียดและส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึงไทยในเวลานี้
ลามไทยต้นทุนผลิตพุ่ง
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วต่อประเทศไทย จากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนในขณะนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น (ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล) ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยปรับขึ้นตาม (น้ำมันดีเซลปรับขึ้นไปอยู่ระดับ 29 บาทต่อลิตรเช่นเดิมหลังลดภาษีสรรพสามิต 3 บาทต่อลิตรก่อนหน้านี้)
นอกจากนี้จากเงินรูเบิลของรัสเซียที่อ่อนค่าลง 30% หลังถูกสหรัฐฯและยุโรปคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และขับหลายธนาคารของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ที่เป็นเครือข่ายการโอนและชำระเงินระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อกับสถาบันการเงินทั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปรัสเซียในช่วงจากนี้ไป จากบาทแข็งค่า รูเบิลอ่อน จะทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น ส่งออกได้ลดลง และการทำธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวกับการโอนเงินในการส่งออกสินค้าไปรัสเซีย ที่ถูกตัดออกจากระบบ SWIFT จะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมทางการค้า และการเงินที่ยุ่งยากและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
ยิ่งยื้อนาน ศก.โลกยิ่งทรุด
“ส่วนผลกระทบต่อโลก หากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ กรณียืดเยื้อ 3 เดือนทางศูนย์ฯ คาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจโลกจะลดลงปีนี้ 0.3-0.5% หากยืดเยื้อ 6 เดือนจะลดลง 0.5-0.7% และหากถึงสิ้นปีนี้ จะลดลง 1.0-1.2% ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก หากยืดเยื้อ 3 เดือน คาดเฉลี่ยที่ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ยืดเยื้อ 6 เดือน 120-130 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และยืดเยื้อถึงสิ้นปีอาจสูงถึง 130-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะรัสเซียจะส่งออกน้ำมันไปยุโรปได้ลดลง ส่งผลให้รายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซของรัสเซียหายไป 50%”
นอกจากสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแล้ว จากการที่รัสเซียถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและการเงิน ทำให้อุปทานสินค้าส่งออกจากรัสเซียจะลดลง หรือหายไปจากตลาด เวลานี้มีหลายสินค้าจากรัสเซีย และในตลาดโลกที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก ไมโครชิพ ข้าวโพด ข้าวสาลี รวมถึงทองคำที่ราคาใกล้แตะบาทละ 3 หมื่นบาทจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และตลาดหุ้นผันผวนตามสถานการณ์ความรุนแรง
เหล็กปรับขึ้นลุ้นกระทบไฟฟ้า?
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า จากที่ ส.อ.ท. ได้สำรวจผลกระทบในเบื้องต้น พบมีหลายสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็กที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย และยูเครนรวมกันสัดส่วนประมาณ 10% ของการนำเข้า เวลานี้ราคาสูงขึ้นและขาดแคลนจากผลกระทบความไม่ปลอดภัย, วัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพดที่รัสเซียและยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายสำคัญของโลก การสู้รบกันทำให้ชาวยูเครนละทิ้งบ้านเรือน ละทิ้งภาคเกษตร และภาคโรงงาน ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ของโลกในภาพรวมขาดแคลน และขึ้นราคา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ของไทย ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มีต้นทุนที่สูงขึ้น เห็นได้จากเวลานี้ราคาไข่ไก่ได้ปรับขึ้นแล้ว (ไข่คละหน้าฟาร์มขยับจาก2.90 บาทต่อฟอง เป็น 3.20 บาทต่อฟอง)
“นอกจากนี้มีพวกสินแร่ ปุ๋ยเคมีนำเข้าจากรัสเซียที่อาจขาดตลาดในช่วงต้นของสถานการณ์ และในบางกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรากำลังดูผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤติการขาดแคลนพลังงานในยุโรปที่รัสเซียไม่สามารถส่งก๊าซและน้ำมันไปยุโรปได้จากถูกแซงก์ชั่น ทำให้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์บางอย่างที่สำคัญ ๆ ที่ต้องนำเข้าจากเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เพื่อเป็นวัตถุดิบการผลิตในอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ต้องใช้ชิ้นส่วนไฮเทคทั้งหลายจากยุโรปอาจได้รับผลกระทบ”
รับมืออุปสรรคค้ารัสเซีย
กรณีรัสเซียจะถูกตัดออกจากระบบ SWIFT ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปิดแอล/ซี การชำระ หรือโอนเงิน คาดจะส่งผลให้สินค้าหลัก ๆ ที่รัสเซียนำเข้าจากไทย เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าหมวดอาหารจะมีอุปสรรคและได้รับผลกระทบ และจากค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงไปประมาณ 30% ทำให้สินค้าที่รัสเซียต้องนำเข้าทุกอย่างแพงขึ้น และจากที่สภาพัฒน์ได้คาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยปีนี้ 5-6 ล้านคน (รวมถึงรัสเซียที่อยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรก) จะได้รับผลกระทบยังไม่กล้ามา จากไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากเหตุการณ์ และการเปลี่ยนเส้นทางการบิน จะทำให้เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์
ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวอีกว่า รัสเซียยังไม่เคยถูกสหรัฐฯ และยุโรปตัดออกจากระบบ SWIFT และหากถูกตัดจริงไทย-รัสเซียที่เป็นคู่ค้ากันก็ต้องหาวิธีการโอนหรือชำระเงินกันผ่านทางตัวกลางในประเทศที่ 3 ในครั้งนี้ทุกรายที่ค้าขายกับรัสเซียคงไปหาวิธีการกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร แต่หากจะหันไปใช้การโอนผ่านระบบการเงินของรัสเซียที่เรียกว่า SPFS (เชื่อมต่อสถาบันการเงินทั่วโลก 400 แห่ง) ก็คงต้องไปสมัครเป็นสมาชิก
จับตา Q2 ส่งออกวูบแสนล้าน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า หากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนมีความยืดเยื้อ จะกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลกชะลอตัว และจะกระทบการส่งออกของไทยไปทั่วโลกในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อาจหายไปมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน หรือจากที่เคยส่งออกได้เฉลี่ย 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน อาจลดเหลือ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน รวม 1 ไตรมาส 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ล่าสุด สรท.ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้ลงเหลือขยายตัวไม่เกิน 5% (เดิมคาด 5-8%)
“ขอให้ภาครัฐเตรียมรับมือความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลกที่อาจเกิดจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครน โดยสรท. ขอให้รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ กรณีการชำระเงินระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการควรต้องขอให้คู่ค้าชำระเงินก่อนส่งมอบสินค้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่วนต้นทุนการผลิตสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นขอให้รัฐพิจารณาอนุญาตการปรับขึ้นราคาได้ตามสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงอย่างแท้จริงทั่วโลก” นายชัยชาญ กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3762 วันที่ 3 – 5 มีนาคม 2565