ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายเดือนก.พ. 2565 ที่ผ่านมา นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ลงพื้นที่ศึกษาโครงการพัฒนาชุมชน และแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ในพื้นที่อ.กันตัง จ.ตรัง
ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี(คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองกันตัง บิดายางพาราไทย พร้อมชมต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย เยือนศาลเจ้าฮกเกี้ยน ศาลเจ้าไหหลำ กลุ่มกันตังเมืองเก่า มัสยิดปากีสถาน ตลอดจนกลุ่มจักสานก้านจากวังวน โดยได้แวะรับประทานกาแฟและขนมพื้นเมืองที่ร้าน “หม่าโถว” พร้อมพบปะกับสื่อมวลชนจังหวัดตรัง
โดยอุปทูตสหรัฐฯให้ความสนใจ พร้อมซักถามความเป็นมา ชิมขนม อาหารท้องถิ่น เช่น ขนมโกปังเกด ขนมอาโปง ข้าวเหนียวสองดัง ขนมม่อฉี ข้าวเหนียวต้มใบกระพ้อ ขนมขี้มอด และกาแฟอเมริกาโน ลูกจาก ใบติหมา ใบจาก ซึ่งเป็นพืชริมฝั่งปากแม่น้ำตรัง
ที่พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯ มีเยาวชนจากโรงเรียนกันตังพิทยากร นำบรรยายถึงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งอดีตเจ้าเมืองตรังเคยพักอาศัย และเป็นผู้นำยางพาราจากแถบมลายูเข้ามาประเทศไทย ก่อนจะแพร่ขยายไปทั่วประเทศ กลายเป็นอาชีพทำกินของคนไทยมาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะชาวใต้
ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ฯมีสภาพชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา เพราะเป็นบ้านไม้เก่าแก่อายุนับร้อยปี และในการซ่อมแซมยังมีข้อติดขัด เนื่องจากที่ดินและตัวบ้าน ถือเป็นทรัพย์สินของเอกชนลูกหลานพระยารัษฎาฯ ทำให้หน่วยงานรัฐไม่สามารถตั้งงบประมาณเข้าไปบูรณะดูแลได้
จากการสำรวจสภาพของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พบความชำรุดทรุดโทรม อาทิ 1.โครงสร้างของเสารับน้ำหนักมุขด้านหน้าทั้ง 2 ข้างของบ้านที่เริ่มโยก ซึ่งอาจเป็นอันตราย หากมีคนขึ้นไปยืนจำนวนมากๆ 2.พื้นกระดานไม้ชั้นบนที่ผุ 3.บันไดหลักทางขึ้นชั้นสองจากด้านหน้า ถูกทำลายโดยปลวก 4.ราวกันตกด้านหลังบ้านหลุด และผุพัง และ 5.เชิงชายหลังคาไม้ที่หลุดล่อน เป็นต้น
นอกจากนี้อุปทูตสหรัฐฯยังได้เดินเท้าชมสถาปัตยกรรมเมืองเก่ากันตัง ไปยังศาลเจ้าฮกเกี้ยน มัสยิดปากีสถาน และศาลเจ้าแม่ทับทิม(ไหหลำ) สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำศาลเจ้า พร้อมเสี่ยงเซียมซี โดยผลการเสี่ยงเซียมซีได้ใบที่ 17 เป็นใบที่ระบุคำทำนายที่ดีเลิศในทุกด้าน และชมการแสดงระบำชุดบะบ๋า-ยะหยา จากวัฒนธรรมลูกผสมไทย-จีน จิบน้ำชาและขนมโกปังเกด เค้กตรัง ขนมจีบสังขยา ซึ่งกลุ่มเมืองเก่ากันตังเตรียมไว้ต้อนรับอย่างดี
นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า กันตังมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เป็นมรกดที่ตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่ชาวจีนย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองกันตัง จะเห็นได้จากตัวอย่างของศาลเจ้า วัด จะเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นการผสมผสานระหว่างชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวมาเลเซีย และชาวไทย วัฒนธรรมเหล่านี้สะท้อนมาในรูปแบบของ อาหาร ศาลเจ้า ผู้คน และประสบการณ์ต่าง ๆ
ตนประทับใจว่าประเทศไทยทุกภูมิภาค มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และธรรมเนียมต่าง ๆ ผู้คนมีความเป็นมิตร และตนอยากเห็นผู้คนมาท่องเที่ยวที่ตรังมากขึ้น หลังจากโควิด-19 จางไป ในขณะที่ทุกวันนี้ผู้คนเดินทางไม่เยอะ หลายธุรกิจยังคงปิดตัว หวังว่าในอนาคตจะเห็นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูดังเดิม หวังว่าโควิดรอบนี้จะเป็นระลอกสุดท้าย อยากจะเห็นธุรกิจการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีก
“ตรังมีเศรษฐกิจที่ดีมาก เพราะมียางพาราและพืชเศรษฐกิจอื่น ผมจะกลับมาเที่ยวกันตังอีกบ่อยๆ ผมได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯ ผมประทับใจมากที่มีเด็กนักเรียนคอยต้อนรับ แนะนำ เป็นผู้นำเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ฯ ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของครอบครัวพระยารัษฎาฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง วางรากฐานสำคัญของเมือง ก่อนจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านยังเป็นคนแรกที่นำต้นยางพาราต้นแรกมาปลูกในเมืองไทย จนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และขอฝากขอบคุณเด็กนักเรียนที่นำชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้” อุปทูตสหรัฐฯกล่าว
อุปทูตสหรัฐฯกล่าวอีกว่า ที่คนพื้นที่ต้องการพื้นฟูบูรณะพิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯ ที่ชำรุดทรุดโทรมลงตามการเวลานั้น ในส่วนของสหรัฐฯมีกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (AFCP) ที่ดำเนินการในด้านอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งในประเทศไทยมีสถาปัตยกรรมหลายแห่งที่ทรุดโทรม และมีคนเก่าคนแก่ ในแต่ละพื้นที่ต้องการรักษาสถาปัตยกรรมไว้ เพราะเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นของภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งจะสืบสานไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน
ตนเข้าใจถึงความต้องการจะหาทุนมาเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู สถาปัตยกรรม หรือ พิพิธภัณฑ์เหล่านี้ โดยที่ผ่านมากองทุนฯได้ช่วยมาแล้ว 20 โครงการ เช่น โครงการบ้านโบราณล้านนา จ.เชียงใหม่ , โครงการโลงผีแมน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งที่แม่ฮ่องสอนทางกองทุนฯ ได้สนับสนุนการขุดค้นโบราณคดี , การให้ทุนกับวัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมวัด เป็นต้น
ทางกองทุนฯมีความเข้าใจและเห็นใจว่าต้องการอนุรักษ์ไว้ ซึ่งในส่วนของการพื้นฟูพิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎาฯ สามารถติดต่อขอข้อมูล หรือ ส่งโครงการ และ ใบสมัครไปได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาทุกปี ทั้งราชการ และเอกชน สามารถขอการสนับสนุนจากกองทุนได้ หรือ จะระดมทุนจากภาคอื่น ๆ มาด้วยก็ได้