thansettakij
วิธีสังเกตร้านค้าออนไลน์ เลือกแบบไหนไม่ให้ถูกหลอก

วิธีสังเกตร้านค้าออนไลน์ เลือกแบบไหนไม่ให้ถูกหลอก

10 มี.ค. 2565 | 06:49 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มี.ค. 2565 | 13:57 น.

เปิดวิธีการสังเกต “ร้านค้าออนไลน์” ที่น่าเชื่อถือ ได้สินค้าจริง ๆ ตรงปก ผู้บริโภคควรเลือกร้านแบบไหนที่ไม่ให้ถูกหลอกลวง สามารถดูข้อแนะนำทั้งหมด ได้ที่นี่

ปัจจุบันพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค ได้เปลี่ยนจากการซื้อขายผ่านหน้าร้านมาเป็นการซื้อขายผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ ซึ่งตอนนี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และนับเป็นทางเหลือใหม่ที่กำลังได้รบความนิยมอย่างสูง

 

แต่ในทางกลับกันเมื่อการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้นก็ย่อมต้องมีปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน ทั้ง ปัญหาสินค้าไม่ตรงปก สินค้าชำรุด ปัญหาการชำระเงิน การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ปัญหาการขนส่ง การได้สินค้าคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน รวมไปถึงปัญหาการหลอกลวง

 

ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ยกเอาสถิติการรับร้องเรียนสินค้าและบริการในไตรมาส 4 ปี 2564 ผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. มานำเสนอ พบว่า มีจำนวนมากถึง 2,971 ราย

 

โดยด้านที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ ด้านโฆษณา อาทิ การโฆษณาเกินจริง การโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต รองลงมาเป็นด้านขายตรงและตลาดแบบตรงด้านสัญญา และด้านฉลาก ตามลำดับ

ทั้งนี้สินค้าและบริการที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ สินค้าและบริการทั่วไป 658 ราย รองลงมาเป็นจองตั๋วเครื่องบิน/สายการบิน 190 ราย ในประเด็นการขอคืนค่าโดยสารอาคารชุด/คอนโดมิเนียม 179 ราย ในประเด็นการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน เครื่องมือสื่อสาร 134 ราย และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว 133 ราย เป็นต้น

 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ การซื้อขายสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ประเภทต่าง ๆ ในปัจจุบัน ผู้ขายมักใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายมาดึงดูดใจผู้บริโภคให้เข้าไปเลือกชม และเลือกซื้อสินค้า ใครโชคดีเจอร้านค้าดีก็โล่งไป แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่มักเจอร้านค้าที่เข้าข่ายหลอกลวงและเอาเปรียบผู้บริโภค 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. มีข้อแนะนำสำหรับการสังเกตร้านค้าออนไลน์ ว่าร้านแบบไหนที่ควรเลิกซื้อ และไม่ถูกหลอกลวง โดยมีวิธีตรวจสอบง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  • ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ของผู้ขายที่ชัดเจน มีที่อู่ที่สามารถติดต่อได้ 
  • มีรายละเอียดของสินค้า หรือให้ข้อมูลของสินค้าที่ชัดเจน
  • ตรวจสอบฉลากของสินค้า แหล่งที่มาของสินค้าที่ชัดเจน
  • เช็คยอดรีวิวสินค้าที่น่าเชื่อถือและการตอบรับที่ดี
  • เป็นร้านค้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ เช่น Shopee Lazada หรือได้จดทะเบียนถูกต้อง
  • มีการรับประกันสินค้า หรือมีเงื่อนไงในการรับคืนสินค้า

 

อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจากร้านค้าออนไลน์ สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ 

  • สายด่วน สคบ. 1166 
  • ทางเว็บไซต์ www.ocpb.go.th 
  • ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค (OCPB Complain Mobile Application)