รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการปรับขบวนรถไฟเข้าสถานีกลางบางซื่อนั้น ขณะนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อและรูปแบบการเดินรถไฟเข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ได้สำรวจลงพื้นที่การประเมินคุณภาพสถานีดังกล่าวแล้ว หลังจากนี้จะส่งรายงานดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคมรับทราบ เบื้องต้นกระทรวงได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงปัญหาต่างๆภายในสถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟสายสีแดงให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะย้ายขบวนรถไฟเข้าสถานีกลางบางซื่อ และเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนต่อแผนการปรับย้ายขบวนรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เข้าสถานีกลางบางซื่อ หากประชาชนเห็นชอบสามารถดำเนินการตามแผนได้ทันที แต่ในกรณีที่ความคิดเห็นภาคประชาชนยังไม่เห็นด้วย รฟท.ต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์การย้ายขบวนรถไฟทั้ง 2 สาย ล่วงหน้าภายใน 30 วัน
“ตามแผนในอนาคตกระทรวงมีความจำเป็นต้องปรับย้ายขบวนรถไฟเข้าสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่ที่เพียงพอในการรองรับผู้โดยสารและขบวนรถไฟทางไกล ที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้เดินทาง เบื้องต้นกระทรวงจะเริ่มทยอยย้ายขบวนรถไฟทางไกลจำนวน 2 สาย ประกอบด้วย 1.รถไฟทางไกลสายเหนือ 2.รถไฟทางไกลสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)”
สำหรับแผนการย้ายขบวนรถไฟทางไกล รวม 42 ขบวน โดยจะนำร่องย้ายขบวนรถไฟสายเหนือและขบวนรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ก่อน เช่น สายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ,สายกรุงเทพ-ขอนแก่น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการย้ายขบวนรถไฟทั้ง 2 สายภายในปีนี้ ส่วนขบวนรถไฟเชิงสังคม จำนวน 22 ขบวน ยังให้บริการตามที่สถานีรถไฟหัวลำโพงตามปกติ
ส่วนสาเหตุที่กระทรวงเริ่มดำเนินการย้ายขบวนรถไฟ 2 เส้นแรกก่อนนั้น เนื่องจากรถไฟสายใต้หรือสายตะวันตกมีทางวิ่งค่อนข้างแคบ พบว่าช่วงที่มีการทดสอบเดินรถไฟสายเหนือและรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือมุ่งหน้าไปทางรังสิตมี 4 ราง แต่เขตทางค่อนข้างแคบมีเพียง 2 ราง ทำให้ขบวนรถไฟรุ่นเก่าจำเป็นต้องเดินรถโดยใช้รางของรถไฟสายสีแดงแทน หากนำรถไฟสายใต้เข้ามาเดินรถบนรางของรถไฟสายสีแดงอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะไม่ได้ติดระบบสัญญาณป้องกันอัตโนมัติ (Automatic Tain Protection) ขณะที่รถไฟสายสีแดงมีระบบสัญญาณป้องกันอัตโนมัติ ซึ่งจะมีการหยุดเดินรถทันทีเมื่อพบว่าภายในระบบรถไฟมีการทำงานผิดปกติ ทำให้รฟท.ต้องเร่งดำเนินการติดตั้งระบบดังกล่าวบนหัวรถจักรรุ่นเก่าให้แล้วเสร็จก่อน ถึงจะสามารถเดินรถบนเส้นทางเดียวกับรถไฟสายสีแดงได้ คาดว่าจะติดตั้งระบหัวรถจักรแล้วเสร็จภายในปี 2566 ถึงจะนำบวนรถไฟสายใต้เข้ามาให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อได้
ด้านมาตรการเยียวยาผู้โดยสารจะมีการนำร่องระยะเวลา 1 ปี ดังนี้ ในกรณีใช้บริการรถไฟทางไกลเข้าสถานีกลางบางซื่อ 1.ผู้โดยสารสามารถใช้ตั๋วรถไฟทางไกลขึ้นรถไฟสายสีแดงฟรี 1 ครั้ง ต่อรอบต่อเที่ยว 2.จัดรถ Shuttle bus รับส่งสถานีกรุงเทพ-บางซื่อฟรี ความถี่ 15 นาทีต่อเที่ยว ส่วนกรณีใช้บริการรถไฟชานเมืองที่ใช้ทางวิ่งรถไฟสายสีแดง 3.เสนอให้ผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสามารถนำตั๋วรถไฟชานเมืองมาขึ้นรถไฟสายสีแดงได้เฉพาะขาเข้าภายใน 30 นาที หลังเวลาที่ระบุบนตั๋วรถไฟชานเมือง
ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการฯมอบหมายให้รฟท.ดำเนินการการแก้ไขและปรับปรุงก่อนที่จะย้ายขบวนรถไฟเข้าสถานีกลางบางซื่อ เช่น 1.การบอกหมายเลขประตูทางเข้า-ออก ทำให้เกิดความสับสน มีตำแหน่งที่ตั้งไม่เหมาะสม 2.ไม่มีช่องจำหน่ายตั๋วสำหรับชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวให้บริการโดยเฉพาะ 3.ตำแหน่งที่ใช้บริการเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติของรถไฟทางไกลไม่เหมาะสม เพราะมองเห็นไม่ชัด 4.การดำเนินงานระบบยังไม่เรียบร้อยควรมีฉนวนหุ้มให้ครบทุกจุดในสถานี 5.พื้นที่ทางเดินเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีรอยน้ำรั่วซึม 6.การเชื่อมต่อระบบการเดินทางขาดการติดตั้งป้ายบอกทางและมีคิวมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ไม่เป็นระเบียบ 6.ปรับปรุงตะแกรงระบายน้ำสำหรับผู้พิการที่นั่งรถวีลแชร์เข็นผ่านได้ 7.ปรับปรุงเส้นเตือนบนชานชาลา ในระยะห่างจากขอบชานชาลา 60-75 เซนติเมตร หรือจัดให้มีแผงกั้นบริเวณขอบชานชาลา 8.ประสานกรมการขนส่งทางบกและองค์การขนส่งมวลชนแห่งกรุงเทพ (ขสมก.) จัดฟีดเดอร์รองรับการเดินทางเชื่อมต่อสถานีต่างๆ ของรถไฟสายสีแดง ฯลฯ
ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบต่อแผนการย้ายขบวนรถไฟทางไกลเล็กน้อย เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแผนจะคืนพื้นที่สถานีกลางบางซื่อภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่ปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อบางส่วนเป็นพื้นที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ให้กับประชาชน ที่จะเปิดให้บริการถึงภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 เบื้องต้นสธ.ได้มีการคืนพื้นที่บริเวณประตู 4 ให้กับสถานีแล้ว โดยจะขอใช้พื้นที่เฉพาะบริเวณประตู 1-3