จากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แหล่งกำเนิดมาจากการขนส่งทางถนน 72.5% ประกอบด้วย รถบรรทุก 28 % รถกระบะ 21% รถบัส 7% รถยนต์นั่ง 10% รถมอเตอร์ไซค์ 5% รถตู้ 1.5 % และอื่นๆ 27.5 % ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปญหามลพิษด้านฝุนละออง” กำหนดให้เพิ่มความเข้มงวดมาตรฐาน และวิธีการตรวจวัดการระบายมลพิษจากรถยนต์ เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษ แก้ไขปัญหา PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงออกประกาศโดยให้ยกเลิกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562
โดยประกาศเรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 กำหนดค่าความทึบแสงไม่เกิน 30 % (จากเดิมไม่เกิน 45 %) และค่ากระดาษกรองไม่เกิน 40 % (จากเดิมไม่เกิน 50 % ) วิธีการตรวจวัดค่าควันดำขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ มีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2565 นี้ จึงขอแจ้งผู้ประกอบการ พี่น้องประชาชน ให้ดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดฝุ่น PM2.5 และเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด นายอรรถพล กล่าว