เคลมประกันโควิด ยังไงให้ได้เงิน กรณี HI-CI-Hotel Isolation เช็คได้ที่นี่

16 มี.ค. 2565 | 20:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2565 | 21:41 น.

ตรวจสอบเงื่อนไขล่าสุด เงื่อนไข การเคลมประกันโควิด ยังไงให้ได้เงิน กรณีการรักษาแบบ Home Isolation หรือ  HI  Community Isolation หรือ CI และ Hotel Isolation เช็คได้ที่นี่

จากกรณีที่มีหลายท่านสอบถามเข้ามาถึง เงื่อนไข “การเคลมประกันโควิด19” ในปัจจุบัน ที่ระบบสาธารณสุขบ้านเรา สนับสนุนแนวทางการรักษาตัวเอง ทั้ง จากที่บ้าน Home Isolation (HI) การกักตัวในชุมชน Community Isolation (CI) หรือ การกักตัว/รักษาตัวที่โรงแรม Hotel Isolation ในกรณีที่ไม่มีอาการรุนแรง หรือกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว 

 

ที่มีคนสงสัยและอาจจะเจอปัญหาเหมือนๆกันคือ เรื่องการเคลมประกันโควิดที่ทำกับบริษัทประกันต่างๆเอาไว้ แล้วปรากฏว่า เลือกที่จะการรักษาตัวเองทั้ง 3 รูปแบบ หรือ ทำตามที่แพทย์แนะนำในการรักษาตัวเอง ทำให้การเคลมมีปัญหา ซึ่งอาจจะไม่ได้เงินประกันก็เป็นไปได้ 


ซึ่งล่าสุดปัญหาเหล่านี้ มีคำตอบและทางออกชัดเจน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ได้ข้อยุติกรณีจ่ายเคลมประกันโควิด ในการรักษาอาการป่วยแบบ HI - CI และ Hotel Isolation คือ อนุโลมจ่าย เพื่อลดข้อพิพาทและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.

เรื่องนี้ เปิดเผยโดย “ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานมีอำนาจในการควบคุม-กำกับดูแลกิจการธุรกิจประกันภัย บอกว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน อย่างต่อเนื่อง

 

เพื่อร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับการอนุโลมให้มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่รักษาตัวแบบ 

  • การรักษาตัวเองจากที่บ้าน Home Isolation (HI) 
  • การกักตัวในชุมชน Community Isolation (CI) 
  • การรักษาตัวที่โรงแรม Hotel Isolation 

 

ซึ่งจากผลการประชุมหารือร่วมกัน 4 ฝ่ายดังกล่าว ได้ข้อยุติร่วมกันใน 2 ประเด็น โดยให้มีการอนุโลมการจ่าย ดังนี้

เคลมประกันโควิด ยังไงให้ได้เงิน กรณี HI-CI-Hotel Isolation เช็คได้ที่นี่

ประเด็นที่ 1 การจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีรักษาตัวแบบ Home Isolation (HI) แบบ Community Isolation (CI) หรือแบบ Hotel Isolation 

  • กรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมีความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอกเพียงอย่างเดียว ให้อนุโลมจ่ายค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอก
  • กรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมีความคุ้มครองแบบผู้ป่วยในเพียงอย่างเดียว ให้อนุโลมจ่ายค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองแบบผู้ป่วยใน และไม่เกิน 12,000 บาท
  • กรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมีความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอกและแบบผู้ป่วยในให้อนุโลมจ่ายค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอก หากมีค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าวงเงินความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอก ให้อนุโลมจ่ายค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองแบบผู้ป่วยใน และไม่เกิน 12,000 บาท

 

ประเด็นที่ 2 การจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ กรณีรักษาตัวแบบ Home Isolation (HI) แบบ Community Isolation (CI) หรือแบบ Hotel Isolation 

  • จะอนุโลมการจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ เฉพาะกรณีผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมีผลตรวจโดยวิธี RT-PCR 
  • และมีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งที่จะต้องเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับดังต่อไปนี้
  1. อายุมากกว่า 60 ปี 
  2. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) 
  3. โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
  4. โรคไตเรื้อรัง (CKD)
  5. โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหัวใจแต่กำเนิด
  6. โรคหลอดเลือดสมอง
  7. เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  8. ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ตั้งแต่ 30 กก./ตร.ม. ขึ้นไป)
  9. ตับแข็ง
  10. ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และlymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม.

 

เลขาธิการ คปภ. บอกด้วยว่า สำนักงาน คปภ. จะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปออกเป็นคำสั่งนายทะเบียนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยจะให้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 2 เดือน และจะติดตามพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นระยะ ๆ ต่อไป

 
ที่มา : สำนักงาน คปภ.