นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ไทยแลนด์ริเวียร่า) เบื้องต้น สนข.ขอจัดตั้งปีงบประมาณปี 66 วงเงิน 80 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการศึกษาความเหมาะสม และสำรวจออกแบบเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน ครอบคลุม พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล เบื้องต้นระยะทางประมาณ 600 กม. หากได้รับจัดสรรงบประมาณ สนข. จะเริ่มจัดซื้อจัดจ้างหาที่ปรึกษาช่วงเดือน ต.ค.ปี 65 จากนั้นเริ่มศึกษาประมาณ ธ.ค. 65-พ.ค.67 ใช้เวลาศึกษา 18 เดือน เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปดำเนินการต่อไป
สำหรับโครงการนี้จะศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน (ช่วง จ.ระนอง-จ.สตูล) ศึกษาแนวเส้นทาง รูปแบบโครงการ เบื้องต้นออกแบบเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ เพื่อการท่องเที่ยว อาจมีทางจักรยานคู่ในบางจุดที่สวยงาม นอกจากนี้จะศึกษารูปแบบจากต่างประเทศมาดำเนินการมาประกอบด้วย หากบริเวณเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลไม่สามารถสร้างในระดับดินได้ อาจจะมีการสร้างแบบยกระดับแทน รวมทั้งมูลค่าโครงการเบื้องต้น การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ไออีอี) และ ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่
นายปัญญา กล่าวอีกว่า โครงการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีดำริในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 ให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาเส้นทางถนนเพื่อการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งอันดามัน โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มอบหมายให้ สนข. ขอรับงบประมาณปี 66 ดังกล่าว เพื่อมาศึกษาโครงการ ให้เกิดแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวตามระยะเวลาการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ปัจจุบัน ทช. ได้กำหนดแผนการพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลใต้ (Thailand Rivera) ไว้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วง จ.สมุทรสงคราม-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทางกว่า 514 กม. จำนวน 42 โครงการ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 62 และก่อสร้างแล้วเสร็จปี 66 ระยะที่ 2 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-สงขลา อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ ทบทวนแนวเส้นทาง และ อีไอเอ ระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 สมุทรปราการ-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม (3 สมุทร) และ ช่วงที่ 2 เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ (ตะนาวศรี) ซึ่งอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ และ อีไอเอ และ ระยะที่ 4 ช่วงสงขลา-ปัตตานี-นราธิวาส คาดว่าในปี 66 จะเริ่มสำรวจออกแบบ และ อีไอเอ