ค่าไฟพุ่ง ถึง เม.ย. 66 เอฟทีกระโดด 110 สตางค์

20 มี.ค. 2565 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2565 | 18:08 น.

กกพ.เผยวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาพลังงานปรับขึ้นยกแผง ส่งผลต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้าพุ่งต่อเนื่องยาวถึงเม.ย.66 เรียกเก็บที่ 110 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่งวดพ.ค.-ส.ค.65 เอฟทีขยับที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย กระทบค่าไฟฟ้าสูงถึง 4 บาทต่อหน่วยแล้ว

 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนัก งานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อวิกฤติราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ราคาเชื้อเพลิงอย่างก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทำให้กกพ. ต้องปรับสมมุติฐานการประมาณการ ค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานการณ์การใช้ที่ก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มเติม ทดแทนธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านของผู้รับสัมปทานรายใหม่ในแหล่งก๊าซเอราวัณ

 

ค่าไฟพุ่ง ถึง เม.ย. 66 เอฟทีกระโดด 110 สตางค์

 

 

เป็นผลให้ กกพ. ต้องทยอยปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ในอีก 3 รอบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ไปจนถึงเดือนเมษายน 2566 โดยรอบรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย จาก 3.76 บาทต่อหน่วย โดยจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 17-27 มีนาคม 2565 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

 

ขณะที่รอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 จะปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) เป็น 64.83 สตางค์ต่อหน่วย และรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จะปรับเป็น 110.82 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งค่าเอทีที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ อยู่ภายใต้มาตรการการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ต่ำที่สุด ได้แก่ การปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป. ลาว จากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ก่อนวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์

 

รวมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ทั้งจากเอสพีพีและวีเอสพีพี การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในราคาที่เหมาะสม และมาตรการการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ร่วมกับมาตรการการนำ “Energy Pool Price” มาใช้ เพื่อทดแทนการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาแพง

 

ทั้งนี้ จากราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อค่าเอฟที ที่เรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 129.91 สตางค์ต่อหน่วย และหากพิจารณาภายใต้หลักการการปรับขึ้นแบบขั้นบันได อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟที งวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย แต่ด้วยมาตรการการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ต่ำที่สุดดังกล่าวจึงทำให้ค่าเอฟทีปรับเพียง 24.77 สตางค์ต่อหน่วย

 

อย่างไรก็ตาม ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะแบกรับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในงวดที่ผ่านมา (มกราคม-เมษายน) ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดไว้ก่อน และจะทยอยเรียกคืนค่าเอฟทีเมื่อราคาเชื้อเพลิงลดลง

 

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 มาจากความต้องการพลังงานไฟฟ้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ  68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (ม.ค.-เม.ย. 2565) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลัง งานไฟฟ้าเท่ากับ 65,325 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.21 %

 

ขณะที่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ยังใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 55.11% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 19.46% และ ลิกไนต์ของ กฟผ. 8.32% เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 8.08 % พลังน้ำของ กฟผ. 2.58% น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) 0.01% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) 0.19% และอื่นๆ อีก 6.25 %

 

สำหรับราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟที เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการ โดยราคาก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวมาอยู่ที่ 422.36 บาทต่อล้านบีทียู จาก 376.46 บาทต่อล้านบีทียู และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวมาอยู่ที่ 3,678 บาทต่อตัน จาก 2,877 บาทต่อตัน และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3767 วันที่ 20 -23 มีนาคม 2565