ไทยอยู่ในภาวะซึมเศร้าเหงาหงอย "ทนง" เสนอออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านกู้ชีพ

23 มี.ค. 2565 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 18:39 น.

“ดร.ทนง ”ห่วงคนไทยอยู่ในภาวะซึมเศร้าเหงาหงอย จากพิษเศรษฐกิจ แนะ“บิ๊กตู่”เป็นรัฐบาลทหาร ต้องกล้าออกพ.ร.ก.1 ล้านล้านกู้ชีพอีกรอบ

ดร.ทนง พิทยะ  อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวในการสัมมนา THE BIG ISSUE 2022 ฝ่าไฟสงคราม รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ (23 มี.ค. 65) ในหัวข้อ “ทางออก ทางรอดธุรกิจไทย หลังไฟสงคราม” ใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า  

 

จากสภาวที่เกิดขึ้นขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์แบบซึมเศร้าหงาหงอย ไม่ว่าจะเดินทางไปทางไหนมันเงียบเหงาไปหมด จะทำอะไรมีแต่คนบ่น โดยเฉพาะภาคคนจนเป็นผู้แบกรับภาระ ไม่เหมือนสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันธนาคารกับคนรวยเป็นผู้แบกรับภาระจากการลดค่าเงิน ขณะที่คนจนก็จนขึ้นทันที ขายของได้ การท่องเที่ยวกลับมาทันที หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงสถาบันการเงิน ปรับปรุงเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เป็นกลไกลทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งทุกสถาบันการเงินเจอภาวะล้มละลายทั้งหมด

 

แต่ตอนนี้มันเป็นโรคซึมเศร้า ไปกระจายอยู่ที่ความยากจน คน ที่เคยมีเงินดือนหมื่นกว่าบาทก็ไม่มีเงินเดือนอีกแล้ว พอรัฐบาลช่วย 5,000 บาท บ้าง 3,000 บาท บ้างแล้วแต่ จะคนละครึ่งหรือเท่าไรก็เป้นส่วนน้อยของเงินเดือนที่ได้รับ และหนีหนีไม่พ้นว่าโรคซึมเศร้าเหงาหงอย

ดร.ทนง กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเหงาหงอยเกิดขึ้น เนื่องจากภาวะการบริโภคของคนจนหลายสิบล้านคนตอนนี้มันหายไป พอมันหายไปก็ไปกระทบกับนักลงทุนและนักธุรกิจทั้งหลายซึ่งพยายามขายของให้คนที่มีรายได้หมื่นกว่าบาทก็เหลือแค่ 5,000 บาท การลงทุนก็ไม่เกิด กำลังการผลิตก็เหลืออยู่ นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจทั้งการบริโภคและการลงทุนมันถดถอยตลอดเวลา 

ดร.ทนง พิทยะ  อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

พอเกิดโควิด-19 ก็ติดลบ 6 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับการติดลบช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปีแรกในช่วงต้มยำกุ้ง แต่หลังจากนั้นก็ไม่โตขึ้นมาแค่เปอร์เซ็นต์เดียว ปีนี้คิดว่าโตอย่างมากแค่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เรายังอยู่ในสภาพซึมเศร้าอยู่และไม่รู้จะแก้อย่างไร 

 

ผมติดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำตอนนี้ ก็เหมือนรักษาคนเป็นโรคซึมเศร้า เอายาแก้เครียดให้ แจกเงินให้บ้าง ทำอย่างไรจะไม่ให้อดตาย และยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน เพราะยังไม่สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดกำลังใจในการทำงานใหม่ขึ้นมา เพราะไม่มีงานใหม่ให้ทำเพียงพอ โควิดก็ยังไม่หมด การสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกกตัดทิ้งไป ไม่ว่านโยบายด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมต่างๆ ค่อยๆกลับมาโดยเฉพาะการส่งออก  แต่เป็นเฉพาะอุตสาหกรรมในประเทศ การบริโภคยังน้อยมากเนื่องจากคนจนส่วนใหญ่ยังไม่มีความสามารถในการสร้างรายได้  ในส่วนของภาครัฐเองก็ทำไม่ได้เพียงพอ 

ดร.ทนง กล่าวว่า ตั้งคำถามไปยังรัฐบาล "ประยุทธ์"ว่าทำไมไม่ออกพ.ร.ก.เพิ่มงบประมาณ 1ล้านล้านบาท และ1.5 ล้านล้านบาท  เพื่อเร่งรัด สิ่งนี้ผมก็อยากจะเห็น เพราะถึงเวลาที่จำเป็นการเพิ่มงบประมาณ 1ล้านล้านบาท และ1.5 ล้านล้านบาท   เพื่อเร่งสปีดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้รวดเร็ว

 

โดยเฉพาะเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาในปีนี้ รองรับอุตสาหกรรมที่หดตัวลงไป รองรับเอสเอ็มอี ซึ่งต้องการเพิ่มความสามารถในการลงทุนในการเพิ่มการผลิตลงมา มันต้องไปอย่างรวดเร็วพร้อมๆกัน ให้คนเริ่มมีงานทำ และเพิ่มความสามารถในการบริโภคให้ได้ 


“รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลทหารต้องมีความกล้าที่จะทำ เพื่อให้ประเทศฟื้นกลับมา ต้องยุให้เขาทำ ผมมองว่าทุกคนอยากเป็นรัฐบาล ใครกล้าทำก็ได้เปรียบ ผมถือว่าต้องแก้ ปัญหาให้ประเทศ กลัวสภาไม่ผ่าน พ.ร.ก.ไม่ได้ สุดท้ายถ้าได้เป็นรัฐบาล เขาก็ต้องอยู่ร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ” อดีตขุนคลังให้แง่คิดในตอนท้าย