สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม วันพระที่ 25 มีนาคม 2565 ต้นทุนอาหารสัตว์ยังคงเป็นปัญหาหลักให้ภาคปศุสัตว์ ที่สาธารณะยังคงไม่ตระหนักถึงภาระด้านต้นทุนการผลิตที่ก้าวกระโดดขึ้น ของวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง แม้ภาวะวิกฤติระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กระทบทุกคนอย่างชัดเจนกับต้นทุนด้านพลังงานน้ำมัน ที่กระทบค่าใช้จ่ายรายวันของผู้บริโภค
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการต้นทุนเมื่อ 18 มีนาคม 2565 ประเมินต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาส 2/2565 กระโดดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเกษตรกรที่ซื้อลูกสุกรเข้าขุน ที่เป็นภาระของเกษตรกรรายย่อย
ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรยังคงแปรผันตามความกังวลกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิคที่ยังสูงมาก เฉลี่ยทั้งประเทศ 25,000 รายต่อวัน ทุกภูมิภาคจึงทรงราคากันต่อเนื่อง โดยการเข้าสู่ฤดูร้อนจะเป็นปัจจัยให้สุกรโตช้า ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรขุนจะออกสู่ตลาดลดลงในช่วงต่อๆ ไป
ภาคตะวันตก 88
ภาคตะวันออก 90
ภาคอีสาน 90
ภาคเหนือ 91
ภาคใต้ 90
ลูกสุกรขุนเล็ก 16 กิโลกรัม วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 : 3,000 บาท บวกลบ 88 บาท
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญ ในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมหน่วยงานเครือข่ายสนองนโยบาย ได้สนธิกำลังไล่ตรวจสอบห้องเย็นรอบใหม่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ -11 มีนาคม 2565 สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมาย พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ดังนี้
รายงานผลการตรวจสอบห้องเย็นประจำวันที่ 24 มีนาคม 2565 พื้นที่ที่เข้าตรวจสอบรอบใหม่ รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 24 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น กว่า 18 ล้าน กิโลกรัม จากห้องเย็นทั้งหมด 544 แห่ง (รอบแรกผลการตรวจสอบซากสุกรสะสมตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม – 24 กุมภาพันธ์ 2565 พบซากสุกรจำนวน 25,378,161.810 กิโลกรัม)