"สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา"เปิดเส้นทางหลวงปู่ทวดบูมท่องเที่ยว     

30 มี.ค. 2565 | 08:01 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2565 | 15:12 น.

   "พิพัฒน์" ชี้สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จุดเชื่อมการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง-สงขลา เผยราคาที่ดินพุ่ง 10เท่ารับการพัฒนาพื้นที่ ประธานหอฯสงขลาชงเส้นทาง”หลวงปู่ทวด”กระตุ้นการท่องเที่ยว ประธานหอฯพัทลุงชี้เพิ่มทางเชื่อมจังหวัด-ดึงนักลงทุน

เมื่อ 18 มี.ค. 2565 กระทรวงคมนาคม ทำพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร วงเงินโครงการรวมทั้งสิ้น 4,841 ล้านบาท   มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (ปี 2566-2568) คาดการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และเปิดให้ใช้บริการในช่วงกลางปี 2569  ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลต่อการพัฒนาพื้นที่

 

นายพิพัฒน์ รัฐกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ"  ถึงผลต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นจากโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลานี้ ว่า  จุดเริ่มต้นโครงการนี้เกิดจากการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งทางพรรคฯได้รับปากว่าจะดำเนินโครงการสร้างสะพานข้ามจากจังหวัดพัทลุงไปจังหวัดสงขลา

\"สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา\"เปิดเส้นทางหลวงปู่ทวดบูมท่องเที่ยว      

การศึกษาแนวสะพานของกรมทางหลวงชนบทเพื่อเลือกแนวที่ดีที่สุด

“เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนทั้ง 2 จังหวัด โดยเฉพาะการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งสองฝั่ง ซึ่งไม่มีผู้คัดค้านโดยเฉพาะพี่น้องประชาชนบริเวณเชิงสะพานทั้งสองฝั่ง”

 

จากจุดนี้ที่ทางพรรคภูมิใจไทยถือเป็นนโยบาย และรับปากที่จะดำเนินการให้ เมื่อได้เป็นรัฐบาลปรากฎว่าพรรคเราได้เป็นผู้ดูแลกระทรวงคมนาคม และการผลักดันของรองนายกฯอนุทิน ชาญวีรกุล ได้นำเข้าครม.ไปเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบรรจุเข้าในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  เมื่อเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนทั้งสองจังหวัด และเป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางของพี่น้องสองจังหวัด ที่ได้รอคอยมาประมาณ 30-40 ปี

\"สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา\"เปิดเส้นทางหลวงปู่ทวดบูมท่องเที่ยว      

\"สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา\"เปิดเส้นทางหลวงปู่ทวดบูมท่องเที่ยว      

“เมื่อมาถึงตรงนี้ โดยเฉพาะการที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความเดือดร้อนของประชาชนทั้งสองจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้มีเศรษฐกิจดีขึ้น การลงทุนภาครัฐก็ต้องเป็นคนนำและจุดประกาย”

 

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการนำในการสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาให้ได้  เพราะฉะนั้นการก่อสร้างสะพานไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดพัทลุงหรือที่จังหวัดกระบี่ เป็นความจำเป็น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างความเจริญขึ้น          โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง-สงขลา ซึ่งทางฝั่งจังหวัดพัทลุงในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จ

 

แต่ทางจังหวัดสงขลาคืออำเภอกระแสสินธุ์ เรื่องการท่องเที่ยวยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็มีการลงไปพัฒนา และมีผู้นำชุมชนหลาย ๆ ชุมชน เริ่มที่จะสร้างแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา ที่สำคัญเมื่อการเดินทางยังไม่สะดวก การเชื่อมโยงทางด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองจังหวัดต้องยืดระยะเวลาออกไป

 

ดังนั้น หากมีการสร้างสะพานเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากการที่มีนโยบายที่จะก่อสร้างสะพานนี้ ผลตอบรับที่เกิดขึ้นทันทีเลยก็คือ ราคาที่ดินทั้งสองจังหวัด คือจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ปรับขึ้นไปล่วงหน้ากันแล้ว เนื่องจากมีนักลงทุนมาหาซื้อที่ดินเพื่อเตรียมการลงทุน 

 

จากเดิมที่ราคาที่ดินฝั่งจังหวัดพัทลุงราคาอยู่ที่ประมาณ 1-2 แสนบาทต่อไร่ แถวเชิงสะพานเขาชัยสน ซึ่งตอนนี้ราคาขยับปรับขึ้นไปประมาณไร่ละ 2 ล้านกว่า ถึง 3 ล้านบาท   ส่วนฝั่งจังหวัดสงขลา จากอดีตที่เคยซื้อขายกันไร่ละประมาณ 1-2 แสนบาท ปัจจุบันปรับขึ้นมาประมาณ 8 แสนบาทต่อไร่แล้ว 

 

“ทางกลุ่มของผมในเครือกงสี ก็ได้มีการซื้อที่ดินทั้งสองฝั่งสะพานบริจาคให้กับกรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพ.ร.บ.เวนคืน ซึ่งหากต้องใช้พ.ร.บ.เวนคืนอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ทำให้นับหนึ่งได้เลย จึงเป็นที่มาทำให้กระทรวงคมนาคมสามารถบรรจุโครงการเข้างบฯปี 2566 นี้”

 

โดยใช้เงินลงทุนจากเงินกู้ 70 เปอร์เซ็นต์ และการลงทุนจากภาครัฐโดยสำนักงบประมาณ จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566-68

 

 “สิ่งเหล่านี้พรรคภูมิใจไทยเรา เมื่อเราพูดแล้วเราก็ต้องทำ นี่คือที่มาของคำว่า พูดแล้วทำก็คือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทางจังหวัดกระบี่ก็เช่นกัน เขาก็มีการสร้างสะพาน 2 ช่วง ช่วงแรกสร้างเสร็จไปแล้ว แต่ช่วงที่ 2 ยังไม่ได้สร้าง”

 

ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าจังหวัดกระบี่ เป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศไทยในปี 2562 ซึ่งมีรายจากการท่องเที่ยวประมาณ 110,000-120,000 ล้านบาท  แต่หากว่าการสร้างสะพานแล้วเสร็จอำนวยความสะดวก มีความพร้อมทั้งหมด มั่นใจว่าเราสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่าเดิม

 

 “ทั้งหลายทั้งปวงตรงนี้ สะพานจะเป็นการสร้างให้เปิดการเดินทาง การสัญจรของนักท่องเที่ยว ให้เกิดการเดินทางโดยสะดวก หากที่ไหนมีการเดินทางสะดวก ปลอดภัย เชื่อว่านักท่องเที่ยวก็จะแวะเวียนเข้าไปท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น”

 

ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆโ ดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายของท่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า  ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องเน้นการกระจายได้สู่ชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเราตอบสนองในเรื่องนี้ คือเน้นทำอย่างไรก็แล้วแต่ ให้กระจายได้สู่ชุมชน   ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลักหรือเมืองรอง สิ่งเหล่านี้มั่นใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีการอำนวยความสะดวก การสัญจร การเดินทาง การคมนาคมสะดวกและปลอดภัย

 

ด้านนายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา  เปิดเผยว่า การเกิดขึ้นของโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาจะสามารถเชื่อมการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลากับจังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเส้นทางศรัทธา ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ให้สอดคล้องกับการเกิดขึ้นของสะพานนี้ได้อย่างไร 

 

“เมื่อการก่อสร้างนี้ใช้งบประมาณที่สูง เราก็มาคิดกันว่าจังหวัดสงขลาควรจะได้อะไรจากโครงการนี้ ทำอย่างไรที่จะให้จังหวัดสงขลาได้ประโยชน์สูงสุดจากสะพานนี้”

 

 สิ่งที่คิดได้และกำลังดูอยู่ตอนนี้ก็คือ เส้นทางการท่องเที่ยว ที่จะเชื่อมกันได้ตรงนั้นก็คือ เส้นทางหลวงปู่ทวด ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่จะขับเคลื่อนโดยใช้สะพานเส้นนี้ให้เกิดประโยชน์ โดยบอกเล่าเรื่องราวเส้นทางท่องเที่ยวหลวงปู่ทวด ให้สอดคล้องและเชื่อมข้ามไปมาระหว่างพัทลุง-สงขลา

 

นายธนวัตน์ กล่าวว่า นอกเหนือจากเส้นทางหลวงปู่ทวดแล้ว ก็กำลังดูเส้นทางอื่นที่เชื่อมกันได้ทางด้านการท่องเที่ยว เช่นการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารมีอะไรบ้าง

 

 “มีผลิตภัณฑ์จากต้นตาล มีเรื่องอาหารพื้นถิ่นต่าง ๆ เพื่อให้การท่องเที่ยวกระจายรายได้เข้าไปสู่ชุมชุนแต่ละพื้นที่”

 

รวมทั้งเชื่อมต่อมายังสงขลาเมืองมรดกโลก ก็คือ สงขลาเมืองเก่า เข้ามาเชื่อมกับเกาะยอ และหาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นผลพลอยได้จากการท่องเที่ยวและการเกิดขึ้นของสะพาน

 

“แต่หลักๆที่ได้คุยกันที่ชัดเจนก็คือ เชื่อมโยงเส้นทางหลวงปู่ทวด ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวลักษณะเส้นทางศรัทธากำลังได้รับความนิยม ที่สำคัญหลวงปู่ทวดที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมหาศาล”

 

 เนื่องจากหลวงปู่ทวดวัดช้างไห้ เป็นที่เป็นที่นับถือศรัทธา ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น คนต่างประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีคนนับถือศรัทธาค่อนข้างเยอะ หากมีการเปิดด่านฯชายแดนไทยมาเลเซียเกิดขึ้น

 

ด้านนายกิตติพิชญ์ กลับคุญ ประธานหอการค้าจังหวัดพัทลุง กล่าวถึงโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ว่า  1.ช่วยให้การเดินทางระหว่างจังหวัดพัทลุง-สงขลาใช้เวลาน้อยลงจากเดิมที่ต้องใช้เวลา1ชั่วโมงครึ่งก็เหลือไม่ถึงครึ่งชั่วโมง  2.ช่วยให้การขนส่ง ด้วยระยะทางที่สั้นลงจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ช่วยลดน้ำมันเชื้อเพลิง   

 

“เป็นการเปิดเส้นทางใหม่ในการเดินทางระหว่างจังหวัดใกล้เคียง เช่นจังหวัดนครศรีธรรมราช จากเดิมที่เคยใช้เส้นทางสะพานเฉลิมพระเกียรติ แต่เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ก็สามารถมาใช้เส้นทางนี้ในการเดินทางได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เส้นทาง เป็นเส้นทางใหม่ที่จะเชื่อมกับจังหวัดนครศรีธรรมราช”

 

นายกิตติพิชญ์ กล่าวและว่า สำหรับในมิติการพัฒนาพื้นที่นั้น สำหรับสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อยู่ในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยว มีบ่อน้ำแร่ บ่อน้ำร้อน ก็สามารถเปิดแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง ในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน ให้ชาวสงขลาและชาวนครศรีธรรมราชมาเที่ยวมากขึ้น

 

“โครงการนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวได้โดยตรง จังหวัดพัทลุงมีจุดแข็งการท่องเที่ยวชุมชนและสุขภาพ และเป็นการขยายพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ไปยังจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มขึ้น ตอนนี้ก็มีการลงทุนรีสอร์ทที่พักในพื้นที่เพื่อรองรับโครงการสะพานนี้”  ประธานหอการค้าจังหวัดพัทลุง กล่าว