นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ รองโฆษก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งประกาศ กอนช. ฉบับที่ 8/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคใต้ ช่วง 5-8 เม.ย.นี้ ระบุว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
ประกอบกับปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้ มีฝนตกหนักสะสม 3 วัน มากกว่า 150 มิลลิเมตร ในหลายพื้นที่ จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 5 – 8 เมษายน 2565
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำในลำน้ำ/แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ประกาศ ณ วันที่ 4 เมษายน 2565
อัพเดทสถานการณ์น้ำในเขื่อน
เช่นเดียวกับ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 4 - 7 เมษายน 2565 พบว่าอิทธิพลของลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กรมชลประทาน ขานรับนโยบายตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2565 แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 5 – 8 เมษายน 2565 บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และกำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง รวมทั้งจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ
โดยให้พิจารณาความเหมาะสมการระบายน้ำในลำน้ำหรือแม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที