ลดเงินสมทบประกันสังคม ม.33 ม.39 นายจ้าง ผู้ประกันตน เหลือจ่ายเท่าไร กี่เดือน

07 เม.ย. 2565 | 20:00 น.

ลดอัตราเงินสมทบ"ประกันสังคม" มาตรา 33 และมาตรา 39 นายจ้าง ผู้ประกันตน เหลือจ่ายเท่าไร เป็นเวลากี่เดือน อัพเดทที่นี่

อัพเดท"มาตรการเยียวยา" ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 มีมติเห็นชอบมาตรการในการช่วยเหลือลดเงินสมทบ นายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565

 

ทั้งนี้การลดเงินสมทบประกันสังคม เป็นหนึ่งใน 10 มาตรการ ในการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงผู้ใช้แรงงาน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างผู้ประกอบการ และผู้ประกันตน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์การระบาดขอโควิด-19 และสถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต และบริการของทั้งในและต่างประเทศ 

อัตราเงินสมทบตามมาตรการเยียวยา มีดังนี้

 

  • ลดเงินสมทบนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 5% เหลือฝ่ายละ 1% ของค่าจ้าง

 

  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบ จากเดิม 9% (เดือนละ 432 บาท) เหลือ 1.9% คิดเป็นเงินเดือนละ 91 บาท

 

เริ่มตั้งแต่งวดเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 สำหรับฝ่ายรัฐบาลยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิม คือ  2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

 

ลดเงินสมทบประกันสังคม ม.33 ม.39 นายจ้าง ผู้ประกันตน เหลือจ่ายเท่าไร กี่เดือน

 

 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มาตรการลดเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกันตนในยามเดือดร้อนในสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสมทบที่ลดลง 1,000 – 1,800 บาทต่อคน รวมเป็นเงินประมาณ 18,085 ล้านบาท ไปใช้เพิ่มกระแสเงินสดให้ผู้ประกันตนมีสภาพคล่องมากขึ้น หากลูกจ้างผู้ประกันตนติดเชื้อต้องรักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทำให้ขาดรายได้ อีกทั้งมาตรการดังกล่าว จะเป็นการลดปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการช่วยแบ่งเบาลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้กับนายจ้าง เป็นจำนวนเงิน 15,938 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพในการรักษาการจ้างงาน ส่งผลให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ เงินสมทบที่ลดลงมากกว่า 34,023 ล้านบาท จะกลายเป็นเม็ดเงินที่นำมาใช้จ่ายช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ของประเทศ

 

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในกำหนด 

 

ที่มา : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน